ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เผย ได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกวิชาชีพแนบไปกับร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ที่ได้นำเสนอ ครม. กรณีข้อกังวลเกี่ยวกับร้านขายยาประเภท ขย.2 และการกำหนดให้จ่ายยาโดยผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกร อาจมีการตีความและเข้าใจแตกต่างกันในร่างกฎหมาย ซึ่งสามารถปรับวิธีเขียนและการใช้คำในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อีก เพื่อให้ร่างกฎหมายเป็นไปในตามเจตนารมณ์ที่ตกลงกันและมีความสมบูรณ์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. (กลาง)

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้เชิญ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สภาเภสัชกรรม ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกัน โดยผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ได้แสดงความเห็นต่อข้อกังวลในประเด็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีใบอนุญาตตามมาตรา 25 (6) เพื่อรองรับร้านขายยา ขย.2 การกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพหลายสาขาเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยาตามมาตรา 24 (3) รวมถึงมีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 228 ซึ่งมิได้จำกัดจำนวนร้านยา ขย.2 ไม่ให้เปิดเพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีความกังวลในมาตรา 117 ที่อาจตีความได้ว่าเปิดช่องให้คลินิกสามารถจ่ายยาหรือขายยาได้ นั้น

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า อย.ได้ดำเนินการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ตามที่มีข้อตกลงกันจากการประชุมร่วมกับผู้แทนวิชาชีพเภสัชกรรมเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 โดยผู้แทนทั้ง 3 หน่วยงาน และ อย. เข้าใจและมีเจตนารมณ์เดียวกันในการจำกัดจำนวนของร้านขายยา ขย.2 ที่มีอยู่เดิมแล้ว พร้อมทั้งจะยกระดับมาตรฐานร้านขายยาประเภทนี้ให้สูงขึ้น สำหรับมาตรา 24(3) และมาตรา 25(6) ออกมาเพื่อรองรับสถานะทางกฎหมายของร้านขายยา ขย.2 ซึ่งกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลในมาตรา 228 ซึ่งจะไม่มีการอนุญาตให้เปิดเพิ่ม และยกเลิกเมื่อผู้รับอนุญาตเสียชีวิต

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายมาตรา 25(6) และ มาตรา 24(3) รองรับร้านยาประเภทนี้รวมทั้งกำหนดผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ซึ่งมิได้หมายความว่าจะปล่อยให้เปิดเพิ่ม หรืออนุญาตให้ใครก็ได้มาเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ นอกเหนือจากสิทธิแต่เดิมตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และในมาตรา 117 เป็นการเขียนกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรา 22(5) เพื่อไม่ให้กระทบต่อคลินิกซึ่งจะมีเพียง 3 วิชาชีพเท่านั้นที่ได้รับสิทธิตามมาตรานี้ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์

ทั้งนี้ วิธีการเขียนร่างกฎหมายที่เสนออาจทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือแปลความที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะไปปรับวิธีการเขียนและการใช้คำในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เพื่อให้ร่างกฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ในทิศทางที่เห็นพ้องต้องกันและมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“ในเบื้องต้น อย.อาจมีการปรับแก้ไขตามที่ได้มีการหารือกัน ซึ่งจะเขียนร่างมาตราที่เกี่ยวข้องกับร้านยา ขย.2 ไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 228 โดยอาจตัดมาตรา 24(3) และมาตรา 25(6) ออก เพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนมาตรา 117 จะให้เฉพาะ 3 วิชาชีพเท่านั้น ตามมาตรา 22(5) ทั้งนี้ อย.จะนำเรียนปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การยกร่างดังกล่าวสอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้พิจารณาการใช้คำให้มีความเหมาะสมต่อไปเพื่อให้เป็นร่าง พ.ร.บ.ยาที่มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ในสังคมไทยปัจจุบันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัย ได้รับประโยชน์ และสามารถสร้างความมั่นคงด้านยาอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ขอให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและคลายความวิตกกังวล” เลขาธิการอย. กล่าว