ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประสบการณ์เภสัชกรเยี่ยมบ้านผู้ป่วยวัณโรคและยังมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) วางแผนการรักษาร่วมกับทีมสหวิชาชีพกระทั่งได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่เพียงแค่การรักษาเพียงเพื่อทำให้โรคหายไป แต่ยังคือการทำให้บุคคลหนึ่งสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังและเป็นโรคที่แพร่ระบาดไปยังผู้อื่นได้ง่าย ผู้ที่เป็นวัณโรคหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะทำให้โรครุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรงได้ การรักษาผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมากทั้งในแง่การดูแลผู้ป่วย การควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ และการป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา โรงพยาบาลมีกลยุทธ์การรักษาด้วยระบบยาระยะสั้นภายใต้การสังเกตโดยตรง (Directly Observe Treatment Short course หรือ DOTS) ซึ่งคือการกำกับให้มีการกินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่นั่นเอง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการรักษาวัณโรคต่อเนื่อง สม่ำเสมอ แต่ทั้งนี้ยังมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถเดินทางมากินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ ก็จะได้รับการเยี่ยมบ้านจากทีมเยี่ยมบ้าน

นายวี (นามสมมุติ) เป็นผู้ป่วยวัณโรครายหนึ่งที่ได้วางแผนไปเยี่ยมบ้าน เมื่อเดินทางไปถึง พบเป็นบ้าน 2 ชั้น ปิดประตูอยู่ ประตูบ้านไม่ได้ล็อก เมื่อเปิดประตูมีกลิ่นคลุ้งของอุจจาระ ปัสสาวะ มองไปเห็นนายวีนอนอยู่เพียงลำพังบนเบาะซึ่งวางอยู่กับพื้นปูนขัดมัน สภาพเปียกเลอะเทอะ ด้านเหนือหัวที่นอนมีถังออกซิเจนที่ต่อสายกับออกซิเจนไว้ ด้านข้างเบาะที่นอนนั้นมีจานข้าว แก้วน้ำ ถังน้ำที่มีน้ำเกือบเต็ม ข้างๆเบาะมีน้ำเปียกแฉะ ผู้ป่วยผิวดำซูบผอม ตาลึกโบ๋ว นอนครวญคราง เป็นพักๆ มือก่ายไปก่ายมา บ้างก็ดึงสายออกซิเจน ช่วงที่ดึงสายออกซิเจน เราก็มีความหวาดเสียวที่ถังออกซิเจนจะล้มมา เนื่องจากตัวถังไม่ได้มีการยึดติดกับอะไรเลย

ขณะที่เรียกชื่อนายวี นายวีไม่สามารถสื่อสารกับพวกเราได้ มีแต่เสียงครวญดังๆ พี่สาวและหลานชายจะสลับกันมาเป็นผู้ดูแลการกินยาของนายวี ซึ่งพบว่ามีการให้ยาตามเวลาทุกวัน ตัวนายวีเองก็ไม่ปัญหาเรื่องการกลืนกินยา การแก้ปัญหา ณ ขณะนั้น ทางทีมเยี่ยมบ้านได้ปรึกษากันระหว่างญาติซึ่งเป็นหลานชาย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อช่วยเหลือในเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสะอาดของที่พักและตัวนายวี

เมื่อกลับจากเยี่ยมบ้านในวันนั้น เภสัชกรจึงได้สืบค้นประวัติเพิ่มเติม พบว่านายวีนั้นมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS) เคยมารับยาต้านไวรัสอยู่ช่วงหนึ่ง และก็ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น จึงขาดการรับยาอย่างต่อเนื่อง แต่แล้ววันหนึ่งนายวีก็กลับมายังโรงพยาบาลแห่งเดิมเพื่อขอรับยาต้านไวรัสต่อ แต่นายวียังไม่สามารถเริ่มยาต้านไวรัสได้ เนื่องจากตรวจพบเชื้อวัณโรค จึงต้องทำการรักษาวัณโรคก่อน

พี่สาวของนายวีบอกเล่าว่านายวีผู้เป็นน้องชายนั้นอยู่ๆ ก็เดินไม่ได้ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีอาการหอบเหนื่อยตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ทราบสาเหตุว่าเพราะอะไรจึงเดินไม่ได้ เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทีมเภสัชกรของโรงพยาบาล ได้มีความเห็นถึงภาวะนายวีที่นอนติดเตียงเดินไม่ได้ น่าจะรักษาได้ โดยไม่แน่ใจว่าสาเหตุนี้เกิดจากภาวะโรค AIDS จากยาวัณโรค หรือมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ จึงต้องส่งพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาก่อน และมีการพูดคุยกับญาติซึ่งเป็นพี่สาวถึงภาวะโรคที่เป็น ชี้แนะแนวทางหากรักษาและไม่รักษาจะเกิดผลอย่างไร โดยพี่สาวของนายวีมีความยินดีที่จะให้โรงพยาบาลรักษา

เภสัชกรที่ไปเยี่ยมบ้านได้ปรึกษาเภสัชกรประจำคลินิกเอดส์ และรับไปดำเนินการต่อ โดยประสานกันในทีมดูแลผู้ป่วยเอดส์ แล้วส่งรถโรงพยาบาลรับนายวีมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ช่วงหนึ่ง อาการก็ดีขึ้นเป็นลำดับ เริ่มเดินได้ เมื่อแพทย์พร้อมให้นายวีกลับบ้าน พี่สาวก็จะมาช่วยดูแลในการพานายวีมาตรวจรับยา จนกระทั่งนายวีกินยาวัณโรคครบ นายวีเดินได้ สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้ พูดคุยโต้ตอบได้ พี่สาวเองก็ดีใจที่น้องชายกลับมาเดินได้ อ้วนท้วมสมบูรณ์

กรณีนี้ไม่ใช่เพียงแค่การรักษาเพียงเพื่อทำให้โรคหายไป แต่ยังคือการทำให้บุคคลหนึ่งสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ช่วยเหลือตนเองได้ตามสมรรถภาพของตน ไม่เป็นที่รังเกียจ โดยเกิดจากการมีส่วนร่วมของทีมดูแลผู้ป่วยเอดส์ ทีมเภสัชกร ผู้ดูแลผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเองในการจัดการแก้ไขปัญหา

ผู้เขียน : ภญ.เพ็ญนภา ประภาวัต รพ.พุนพิน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

สภาพวันแรกที่ไปเยี่ยมบ้าน

สภาพหลังจากเยี่ยมบ้านครั้งแรก 9 เดือน