ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เป้าหมายสูงสุดของเราคือ พัฒนาศักยภาพและสร้างอาชีพให้กับคนไร้บ้าน เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขา ซึ่งการทำงานกับคนไร้บ้าน ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล”

คณิน เชื้อดวงผุย

คณิน เชื้อดวงผุย ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านแบบบูรณาการ จังหวัดขอนแก่น พูดถึงเป้าหมายสุงสุดของเขากับการทำงานกับคนไร้บ้านในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

คณิน เล่าว่า การทำงานเรื่องคนไร้บ้านเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ซึ่งจะเริ่มทำกันตั้งแต่ฐานข้อมูลคนไร้บ้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำงาน ควบคู่กับกิจกรรมเดินกาแฟ

ในภาพรวมในจังหวัดขอนแก่นจะมีคนไร้บ้านอยู่ประมาณ 136 คน เราจะมีแกนนำคนไร้บ้านที่มีศักยภาพในการทำงาน จำนวน 10 คน จังหวัดขอนแก่น เป็น 1 ใน 4 จังหวัด (ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, มหาสารคามและกาฬสินธุ์) ที่เป็นพื้นที่นำร่องการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือให้คนไร้บ้านได้กลับคืนสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คณิน กล่าวว่า คนไร้บ้าน (Homeless) หรือบางคนจะเรียกว่าคนเร่ร่อน หรือคนจร หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน เป็นชายมากกว่าหญิง ไม่มีอาชีพที่มั่นคง จะพบค้นไร้บ้านได้ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กทม. ขอนแก่น เชียงใหม่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงสวัดิการด้านสุขภาพได้ เพราะไม่มีสถานะตัวตนทางกฎหมาย เช่นไม่มีบัตรประชาชน บางคนบัตรประชาชนหมดอายุ หรือบางคนเป็นโรคทางจิตเวช

“เดิมกลุ่มคนไร้บ้านจะเป็นคนที่มีบ้านมีครอบครัว แต่ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เข้ากับคนในครอบครัวไม่ได้ ทะเลาะ จึงทำให้คนไร้บ้านเลือกทางเดินของตนเองออกมาเป็นคนไร้บ้าน ส่วนมากเมื่อเราถามสาเหตุที่ต้องออกมาเป็นคนไร้บ้านเขามักจะตอบว่า “รักอิสระ” มากกว่าจะตอบความจริง”

กิจกรรมเดินกาแฟ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทีมงานจะต้องเดินเข้าหาเพื่อพูดคุยกับคนไร้บ้าน โดยจะนำน้ำร้อน เครื่องดื่ม อาหาร ยา เป็นสื่อกลางในการเข้าถึงคนไร้บ้าน อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้นอีกด้วย ในเดือนหนึ่งเราจะไปทำกิจกรรมเดินกาแฟ 2-3 ครั้ง เพื่อสร้างความคุ้นเคยกันระหว่างทีมงานและคนไร้บ้าน ซึ่งคนกลุ่มไร้บ้านจะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงได้ยากมากที่สุด การสร้างความคุ้นเคยจะทำให้เราได้รับรู้สิ่งที่เขาเป็น และสิ่งที่เขาต้องการได้

ปัญหาด้านสุขภาพเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ การทำงานจึงต้องไปแก้ไขที่ต้นเหตุคือเรื่องทะเบียนราษฏร์ ทางทีมงานต้องประสานกับท้องถิ่น หน่วยงานราชการ เพื่อจะได้พิสูจน์ว่าเขาเป็นคนไทยเคยมีที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่ง เพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้เขา และเมื่อนั้นเขาจะได้สิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพ ทั้งนี้กลุ่มคนไร้บ้านมากถึง 40% จะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน

หลังจากงานด้านสุขภาพแล้ว เราจะมาดูที่การส่งเสริมอาชีพ ทางโครงการฯ จะทำการพัฒนาและดึงศักยภาพของเขาออกมา หาอาชีพที่เหมาะสมให้ เพื่อที่เขาจะมีรายได้อย่างพอเพียงในการใช้ชีวิตรวมถึงการเช่าที่อยู่อาศัย ที่ผ่านมาเราสามารถทำให้คนไร้บ้านมีงานทำถึง 12 คน สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ 24 คน และเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐาน จำนวน 39 คน ได้แก่ มีบัตรประจำตัวประชาชน บัตรคนพิการ และบัตรผู้สูงอายุ ส่งผลให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถได่รับสิทธิและมีโอกาสด้านการทำงานมากขึ้น

“แต่การทำงานแบบนี้ก็ยังเป็นการทำงานที่ปลายน้ำ เราต้องมองที่ต้นน้ำ ต้องสกัดไม่มีให้คนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาในวงจรอีก แต่จะทำได้อย่างไรนั้น จะต้องผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายขึ้นมา ภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาชนจะต้องทำงานควบคู่กันไปแบบบูรณาการ เราไม่สามารถจะทำให้คนไร้บ้านหมดไปจากประเทศได้ ในประเทศที่เจริญแล้วเขาก็มีปัญหาเรื่องคนไร้บ้านเช่นกัน แต่เราจะทำอย่างไรที่คืนสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และให้คนไร้บ้านสามารถยืนหยัดมีอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อีกครั้ง” คณิน กล่าว