ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

WHO หารือ สธ.แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือรัฐบาลไทย-องค์การอนามัยโลก ค.ศ.2017 – 2021 ใน 6 แผนงาน คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ความปลอดภัยบนท้องถนน การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ สุขภาพของผู้ย้ายถิ่น การสร้างความเข้มแข็งงานสุขภาพโลก การพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ ไทยเป็นประเทศแรกที่ดําเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือดังกล่าว

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับ นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ (Dr. Daniel Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจําประเทศไทย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับการดําเนินงานตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2017 – 2021

นพ.สุขุม ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยมีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ในการพัฒนาบริการ การส่งเสริม และการวิจัยเพื่อพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุข โดยขณะนี้ ได้ดําเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO Country Cooperation Strategy : CCS) ค.ศ.2017 – 2021 ประกอบด้วย 6 แผนงาน ได้แก่ โรคไม่ติดต่อ (Non-communicable Diseases) ความปลอดภัยบนท้องถนน (Road Safety) การติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance) สุขภาพของผู้ย้ายถิ่น (Migrant Health) การสร้างความเข้มแข็งของงานสุขภาพโลกเพื่อการพัฒนาสุขภาพในประเทศ (Global Health Diplomacy) การพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (International Trade and Health)

โดยมีการระดมงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ดําเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือดังกล่าว จากเดิมที่เป็นโครงการขนาดเล็ก 200 - 300 โครงการ ใช้งบประมาณขององค์การอนามัยโลก เปลี่ยนมาเป็นการมุ่งเน้นแผนงานหลักที่มีความสําคัญและมีผลกระทบสูงต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศ 5-6 แผนงาน มีการระดมทุนทางสังคม ปฏิญญา และงบประมาณ จากองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยเห็นชอบร่วมกันในการดําเนินการตามหลักการของปฏิญญาปารีส (Paris Declaration on Aid Effectiveness) ซึ่งมีหลักการสําคัญคือ การมีแผนงานเดียวในแต่ละประเด็น ใช้ระบบบริหารและตรวจสอบเป็นระบบเดียว และระบบรายงานและประเมินผลเป็นระบบเดียว โดยกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จต่อไป