ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลเซกา จังหวัดบึงกาฬ ผลิตนวัตกรรมที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต ป้องกันแผลกดทับลดค่าใช้จ่ายราคาถูกกว่า 10 เท่า ใช้ได้ดีในชุมชน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุดประสบความสำเร็จได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2561 สาขานวัตกรรมระดับดีเด่น

นพ.ประเสริฐ ดิษฐ์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซกา จังหวัดบึงกาฬ ให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลเซกา โดย นายภูดิศ สะวิคามิน นักกายภาพบำบัดปฏิบัติการ งานกายภาพบำบัด ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่อำเภอเซกา พัฒนานวัตกรรมที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไตป้องกันแผลกดทับ ทดแทนที่นอนลมไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และนอนไม่สบายตัวจากความร้อน ผู้ป่วยหลายรายจึงไม่ใช้ ทำให้เกิดแผลกดทับ ติดเชื้อ มีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งคุณสมบัติของถุงน้ำยาล้างไต พบว่า มีคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น เหนียว นุ่ม มีความเย็น รับน้ำหนักได้มาก จึงเหมาะสมในการนำมาพัฒนาให้สามารถใช้ได้ทั้งแบบลมและน้ำ

และเมื่อนำมาผลิตเป็นที่นอนลมจากถุงน้ำยาล้างไต พบว่า มีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเตียงลมไฟฟ้าถึง 10 เท่าปรับแต่งได้ตามความเหมาะสม ใช้ได้นาน ซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง ใช้ได้ดีในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการวัสดุที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชน

นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า นวัตกรรมที่นอนลมป้องกันแผลกดทับจากถุงน้ำยาล้างไต ได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ มากกว่า 50 รางวัล และล่าสุดประสบความสำเร็จได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ.2561 สาขานวัตกรรมระดับดีเด่น ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุเป็นกายอุปกรณ์ที่สามารถเบิกจ่ายให้ผู้พิการได้ รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน เพื่อขยายผลการจัดตั้งกลุ่มผลิตและจำหน่ายที่นอนลมอีกทั่วประเทศแล้วกว่า 30 จังหวัด

ทั้งนี้ จังหวัดบึงกาฬมีผู้พิการทางร่างกายมากกว่า 5,000 คน และเป็นผู้ป่วยติดเตียง คนชรา ผู้ป่วยระยะฟื้นฟูจำนวน 750 คน ในจำนวนผู้ป่วยติดเตียงทั้งหมด พบว่า มีแผลกดทับ จำนวน 57 คน และติดเตียงเสี่ยงต่อการเกิดแผลจำนวน 150 คน ผลการทดลองใช้กับผู้ป่วย ในเขตอำเภอเซกาเป็นระยะเวลา 3 ปี พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลกดทับในระดับ 1-3 แผลหายถึงร้อยละ 100 แผลระดับ 4 ลึกถึงกระดูก ติดเชื้อหายร้อยละ 40 ส่วนกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีแผลกดทับ ผู้ป่วยที่ใช้ที่นอนอย่างสม่ำเสมอไม่พบการเกิดแผลขึ้นเลย ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ใช้หรือใช้ไม่สม่ำเสมอ เกิดแผลขึ้นร้อยละ 77

เรื่องที่เกี่ยวข้อง