ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จี้ ครม.ถอนร่าง กม.ซุปเปอร์บอร์ด เผยอยู่ในชั้นกฤษฎีกาพิจารณาก่อนส่ง สนช. ระบุเป็น กม.รวบอำนาจ ลิดรอนการบริหารบอร์ด สปสช. และบอร์ดในระบบสุขภาพทั้งหมด ทั้งตัดการมีส่วนร่วม มีสัดส่วนประชาชนร่วมเป็นกรรมการแค่ 3 จาก 45 คน เป็นยาพิษทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน เชื่อหากร่าง กม.ผ่าน ร่วมจ่าย ณ จุดบริการเกิดแน่ ส่งผลผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา เป็นการฆาตกรรมทางอ้อม ย้ำประชาชนต้องร่วมจับตา คัดค้าน พร้อมถามพรรคการเมือง หากหนุนตั้งซุปเปอร์บอร์ดฯ อย่าเลือกบริหารประเทศ

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมกันแถลงข่าว “จี้ ครม.ถอนกฎหมายซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ” หรือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายโดยกฤษฎีกา ภายหลังผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ =กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแถลงก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และก่อนหน้านี้เราเคยพูดก่อนร่างกฎหมายจะเข้า ครม.แล้วว่า เป็นกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น และให้อำนาจต่อคณะกรรมการนโยบายสุขภาพฯ มากเกินกว่าเหตุ ในการชี้นำระบบสุขภาพของประเทศ จนเรียกว่าเป็น “ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ” ทั้งยังลิดรอนการบริหารของบอร์ด สปสช.และบอร์ดอื่นในระบบสุขภาพ เนื่องจากกำหนดชัดเจนว่า หากคณะกรรมการฯ มีมติเรื่องใดออกมา ถ้าไปขัดแย้งกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ให้ยึดมติของคณะกรรมการชุดนี้

ทั้งนี้การที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแสดงความกังวลและออกมาคัดค้านต่อเนื่อง เพราะหากดูโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพฯ จำนวน 45 คน กว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นข้าราชการที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีกรรมการที่มาจากภาคเอกชน ทั้งหอการค้า นักธุรกิจ แต่กรรมการที่มาจากประชาชนมีน้อยมาก ด้วยสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรมนี้ทำให้มองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงความยากที่จะมีสิ่งดีๆ เพื่อประชาชนออกจากกรรมการชุดนี้

เนื่องด้วยที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะถูกมองเป็นภาระจากผู้มีอำนาจที่เข้ามาบริหารประเทศ ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แต่เมื่อมีการคัดค้านโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพร่วมกันส่งเสียงว่า “หากแก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า” ส่งผลให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ต้องถูกดองไว้และทำให้ตาย แต่เมื่อแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ไม่ได้ จึงมีร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ขึ้นมา ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบและบังคับใช้ ก็จะกลายเป็นยาพิษทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน อาจนำไปสู่การแก้ไขให้ประชาชนร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการ อาจทำให้ประชาชนต้องตายมากขึ้น กระทบต่อหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประชาชน จึงต้องร่วมกันส่งเสียงไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึง สนช.ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้

“ประชาชนต้องร่วมจับตาการพิจารณาร่างกฎหมายซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพนี้ และหากมีการเลือกตั้ง เราอาจต้องถามพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า จะทำย่างไร จะยอมปล่อยให้มีคณะกรรมการชุดมหาอำนาจที่สามารถเข้าจัดการได้ทุกระบบสุขภาพหรือไม่ และหากพรรคใดสนับสนุนก็ขอให้ประชาชนอย่าเลือกเข้ามาเด็ดขาด” นายนิมิตร์ กล่าว

นส.จุฑา สังขชาติ เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ กล่าวว่า ขอย้ำในส่วนของคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ มีการกำหนดกรรมการสัดส่วนประชาชนเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 45 คน หรือมีจำนวนไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ ถือว่าน้อยมาก แต่กลับมีตัวแทนภาคเอกชนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าร่วมแทน ดูแล้วน่าเป็นห่วงว่าคนเหล่านี้จะมาพิทักษ์ประโยชน์ส่วนรวมหรือของกลุ่มเอกชนกันแน่ อย่างไรก็ตามมองว่าคณะกรรมการแบบนี้ไม่น่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และจะนำไปสู่การทำลายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในที่สุด ในร่างกฎหมายซุปเบอร์ดบอร์ดด้านสุขภาพนี้ เราส่งเสียงมาตลอด แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะบอกว่าการออกกฎหมายนี้ได้มีการรับฟังความเห็น แต่กลับไม่เคยฟังเสียงประชาชนเลย

นางมีนา ดวงราษี กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน กล่าวว่า หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน เรื่องร่วมจ่าย ณ จุดบริการมีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดขึ้น เพราะดูจากสัดส่วนกรรมการแล้วรู้สึกหนักใจ ห่วงว่าประชาชนกำลังถูกละเมิดและถูกคุกคามด้านสุขภาพ และชุปเปอร์บอร์ดสุขภาพนี้คงไม่ได้มองแค่ร่วมจ่าย ทั้งนี้หลักการบริหารประเทศต้องยึดหลักประชาธิปไตยและการถ่วงดุล ซึ่งการมีซุปเปอร์บอร์ดนี้น่าจะเป็นการดึงระบบสุขภาพของไทยลงสู่เหว

“เมื่อมองย้อนระบบสุขภาพมีกลุ่มที่ถูกยึดอำนาจในปี 2545 และยังคงหวงอำนาจ ทั้งที่เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อประชาชน โดยมีกฎหมายรองรับให้ประชาชนร่วมเป็นกลไกบริหารจัดการแบบไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นผู้สูญเสียอำนาจจึงพยายามดึงอำนาจนี้กลับคืนโดยผลักดันกฎหมายซุปเปอร์บอร์ดด้านสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นประชาชนจึงต้องร่วมเกาะติดสถานการณ์นี้ร่วมกัน”

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า หากมีซุปเปอร์บอร์ดด้านสุขภาพเกิดขึ้น ทั้งผู้ป่วยเอชไอวี มะเร็ง ไตวายเรื้อรัง จิตเวช หัวใจ และความดัน เบาหวาน คงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เพราะด้วยวิธีคิดของกรรมการที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการนั้นมีปัญหา มองว่าการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นประชาชนต้องรับผิดชอบด้วยการร่วมจ่ายด้วย ดังนั้นหากร่างกฎหมายนี้เข้าสู่ สนช.จริง เครือข่ายผู้ป่วยจะร่วมกันส่งเสียงคัดค้าน เพราะการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ แม้ว่าผู้ป่วยที่มีเงิน หากป่วยด้วยโรคเรื้อรังก็คงจ่ายได้ไม่นาน ถือเป็นฆาตกรรมทางอ้อม ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลมักมองว่าการรักษาพยาบาลประชาชนเป็นภาระ ก็อยากบอกประชาชนเองก็มีรัฐบาลที่เป็นภาระเช่นกัน และไม่เคยทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีแต่ทำให้ลดลง

สำหรับกรณีที่ 4 กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลาออกนั้น จากข่าวเป็นการลาออกหลัง ป.ป.ช.ออกประกาศให้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน สะท้อนให้เห็นว่า กรรมการซึ่งทำหน้าที่บริหารงบประมาณนับแสนล้าน เป็นผู้กำหนดนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่กลับไม่มีธรรมาภิบาล ไม่กล้าแสดงบัญชีทรัพย์สิน หรือกลัวความยุ่งยากในการยื่นและตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิบัติทุกคน ไม่ควรยกเว้นว่าเป็นคนดี ดังนั้นในการสรรหากรรมการเพื่อทำหน้าที่แทนผู้ที่ลาออกไปนั้น ขอเรียกร้อง รมว.สาธารณสุขต้องสรรหาผู้ที่มีธรรมาภิบาลเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนระบบไปข้างหน้า