ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรับประทานยาเกินควรหรือเกินขนาด (polypharmacy) เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามหรือละเลย แต่ในความเป็นจริง ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคเท่านั้นแต่แพทย์/เภสัชกรบางก็สั่งยาให้เกินควร

เว็บไซต์ Medscape ชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจว่าผู้หญิงสหรัฐซึ่งอยู่ในกลุ่มประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์นั้นรับประทานยาเกินควร กล่าวคือ วันละ 5-6 ขนาน/วัน ขณะที่อีก 12 เปอร์เซ็นต์รับประทานมากถึง 10 เม็ด/วัน ทั้งยังพบว่า ผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วนใช้ยาเกินควรเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเพิ่มจากปี 1997 จาก 17.8 เปอร์เซ็นต์เป็น 60.4 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012

เพื่อให้ทุกคนตระหนักและคำนึงถึงความอันตรายที่ซ่อนอยู่ในยาเม็ดจิ๋วๆ ต่อจากนี้คือ 11 ยาควรระวังที่เราไม่ควรรับประทานเกินควร จากงานศึกษาหัวข้อ ‘American Geriatrics Society Beers Criteria list as potentially inappropriate medications’

1. ยาระบายประเภททำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม (stool softeners)

สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง (Chronic Constipation) นั้นควรรับประทานยาระบายประเภททำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม (Docusate) วันละ 100กรัม/วันเท่านั้น แต่ปัจจุบันยาดังกล่าวกลับถูกใช้อย่างเกินควรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดออกมากล่าวอย่างชัดเจนว่ายานั้นมีประสิทธิภาพแบบที่ว่าไว้จริง

โดยงานวิจัยได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นเวลา 500 วัน ระหว่างผู้ป่วยที่ใช้ยาทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม อย่างเดียวและผู้ป่วยที่ใช้ยาประเภทแรกร่วมกับยาระบายแบบกระตุ้น (stimulant laxative) พบว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีอาการข้างเคียงกล่าวคือ ปวดเกร็งช่องท้องไม่ต่างกัน

2. ยาปฏิชีวนะก่อนทันตกรรม (Antibiotics Before Dental Procedures)

การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ (Antibiotic prophylaxis) ก่อนการทำทันตกรรมถือเป็นเรื่องปกติ แม้จะยังไม่มีงานวิจัยมารองรับการปฏิบัติดังกล่าวมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ก็ตาม

ทั้งสถาบัน American Academy of Othopaedic Surgeons (AAOS) และ American Dental Association (ADA) ยังออกมาต่อต้านการใช้ยาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะก่อนทันตกรรมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาและดูเป็นกรณี-กรณีไป

3. ยารักษาอาการแสบร้อนที่หน้าอก (Proton Pump Inhibitors: PPI)

มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ถูกสั่งจ่ายยา PPI อย่างไม่จำเป็น เช่น อาการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากภาวะเครียด (stress ulcer prophylaxis) หรืออาการปวดท้องอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ

ทั้งปัจจุบัน อัตราการเสียชีวิตของผู้ใช้ยา PPI ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวในระยะยาว เช่น ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน หรือผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs)

4. กลุ่มยาสแตตินระดับปฐมภูมิ (Statins for Primary Prevention)

จากงานของ American Heart Association Guidelines for statin use ปี 2013 พบว่ายาสแตตินที่ใช้ลดระดับคอเรสเตอรอลในร่างกายถูกใช้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลับยังไม่มีงานวิจัยไหนชี้ว่ายาดังกล่าวให้ประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้ยายาสแตตินระดับปฐมภูมิช่วงวัยตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป

สอดคล้องกับผลการศึกษาของแคมเปญ The Choosing Wisely campaign ที่กล่าวว่า “ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าการมีคอเรสเตอรอลสูงจะนำมาสู่การเป็นโรคหัวใจหรือเสียชีวิตสำหรับคนกลุ่มอายุ 75 ปีขึ้นไป” ทั้งยังเสริมว่า มีอีกหลายงานวิจัยที่ชี้ว่าแม้จะมีคอเรสเตอรอลน้อยก็ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจได้อยู่ดี ทั้งการใช้ยาสแตตินในกลุ่มอายุดังกล่าวยังเสี่ยงต่ออาการที่แย่ลงได้อีกด้วย

5. ยานอนหลับ/ยากล่อมประสาท (Benzodiazepines/Z Drug)

อาการนอนไม่หลับเป็นอีกหนึ่งความกังวลของกลุ่มผู้สูงอายุแต่การใช้ยากลุ่ม Z – zolpidem, zaleplon และ eszopliclone เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ทั้งยังให้ผลลัพธ์ในช่วงเวลาระยะสั้นๆ เท่านั้น รวมถึงก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา กล่าวคือ มีความเสี่ยงจะล้มง่าย

นอกเหนือจากนั้น ยังมีงานวิจัยพบว่าการใช้ยา Benzodiazepine นั้นเชื่อมโยงกับการเกิดโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

6. กลุ่มยาที่ใช้ในการลดความดันโลหิต (Beta-Blockers)

เบต้า-บล็อกเกอร์ หรือยาลดความดันโลหิต ยังไม่งานศึกษาชิ้นใดออกมาเปิดเผยว่า การใช้ยาเบต้า-บล็อกเกอร์ต่อเนื่องเกิน 3 ปีนั้นส่งผลเช่นไร แต่หลังจากมีการพบว่าวิธีรักษาด้วยการเปิดหลอดเลือดหัวใจของผู้ป่วย (reperfusion therapy) นั้นให้ผลดีกว่าและเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น หลายภาคส่วนก็ออกมาต้องคำถามถึงคุณประโยชน์จากการใช้ยาดังกล่าว ทั้งชี้ว่าเบต้า-บล็อกเกอร์ให้ประสิทธิภาพได้ไม่เท่ากับสารต้านความดันเลือดสูง (Antihypertensive agents) หรือการรักษาด้วยทางเลือกอื่นๆ สำหรับผู้สูงอายุ

7.ยาสำหรับโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Drugs for Asthma/COPD)

มีหลายงานวิจัยที่ออกมาเปิดเผยถึงความเข้าใจผิดกับการวินิจฉัยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรั้งตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างล่าสุดงานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า หนึ่งในสามของผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรั้งในปัจจุบันไม่มีปัญหาใดๆ เมื่อหยุดใช้ยา

8. กลุ่มยาแอนตี้มัสคารินิกสำหรับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ (Antimuscarinics for Urinary Incontinence)

กลุ่มยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิก เช่น darifenacin, fesoterodine, oxybutynin, solifenacin, toltertodine และ trospium ถูกใช้อย่างแพร่หลายสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ แต่ผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวมีมากกว่านั้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยจากผลสำรวจกลุ่มผู้ใช้ยาดังกล่าวมีเพียง 114 คนจาก 1,000 คนที่หายขาดจากภาวะดังกล่าวและมี 63 คน ต้องเลิกใช้ยาด้วยผลข้างเคียง[1]

9. ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์สำหรับโรคอัลไซเอร์ (Cholinesterase Inhibitors for Alzheimer Disease)

ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรสคือสารเคมีที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในสมอง มีคุณประโยชน์ในการรักษาอาการโรคอัลไซเมอร์ที่ดีแต่ผลข้างเคียงก็มีมากเช่นกัน โดยผู้ใช้ยามักมีอาการคลื่นไส้ เป็นลม น้ำหนักลดและกลั้นปัสสาวะไม่ได้

นอกจากนี้ บางรายอาจนำมาสู่การต้องใช้ยายาแอนตี้มัสคารินิกสำหรับภาวะกลั้นปัสสาวะตามมา หลังจากใช้ยาอะซิติลโคลีนเอสเทอเรส

10. ยาคลายกล้ามเนื้อสำหรับอาการปวดหลัง (Muscle Relaxant for Back Pain)

มีงานวิจัยออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่ายาคลายกล้ามเนื้อสำหรับผู้มีอาการปวดหลังชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังนั้นเกิดผลข้างเคียงจริง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งยังมีลิสต์อยู่ใน Beer Criteria โดยจะออกฤทธิ์รุนแรงมากขึ้นหากใช้ยาร่วมกับแอลกอฮอล์

11. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Supplements)

การรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมถือเป็นเรื่องปกติและแพร่หลายอย่างยิ่ง อีกทั้งแพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่มักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานควบคู่ไปกับการทานยารักษา ถึงอย่างนั้น กลับยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนออกมาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้ เช่น การทานวิตามินเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง เป็นต้น

โดยเฉพาะการรับประทานแคลเซียม ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่ออกมาจำนวนมากกลับกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าการทานแคลเซียมช่วยเพิ่มมวลกระดูกเพียงเล็กน้อยและไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องกระดูกร้าวหรือโรคกระดูกพรุน

ที่มา 11 Drugs You Should Seriously Consider Deprescribing: 2018 Update

เรื่องที่เกี่ยวข้อง