ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” แนะ “นโยบายหมอครอบครัว” ดึงชุมชนร่วมเป็นฐาน ขับเคลื่อนดูแลสุขภาพคนในพื้นที่ทุกมิติ ชี้หากจำกัดแค่ “บุคลากรทางการแพทย์” ยากประสบสำเร็จ เหตุกำลังไม่เพียงพอ ขณะที่การผลิต “หมอเวชศาสตร์ครอบครัว” ไม่พอรองรับเป้า 10 ปี 6,500 คน ชี้การเร่งผลิตใช้หลักสูตรอบรมระยะสั้น หวั่นกระทบคุณภาพ พร้อมระบุ สธ.ต้องใช้ตัวชี้วัดผลดำเนินงานหมอครอบครัวแตกต่าง เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ลดแรงกดดันคนทำงาน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย “หมอครอบครัว” เพื่อดำเนินการเชิงรุกด้านสุขภาพให้กับประชาชน นับเป็นแนวคิดที่ดี เพราะการตั้งรับบริการสุขภาพเฉพาะอยู่ในโรงพยาบาล นอกจากเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของประชาชนบางส่วนแล้ว ยังใช้ทรัพยากรโดยรวมที่สูงกว่า และยังมีปัญหาความแออัดจากคนไข้ที่เข้ารับบริการจำนวนมาก

ดังนั้นนโยบายหมอครอบครัวจึงเป็นแนวทางเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล รวมถึงการป้องกันโรคได้มากขึ้น โดยการจัดให้มีทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ออกไปดูแลและให้บริการประชาชนใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล แม้ว่านโยบายหมอครอบครัวจะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในทางปฏิบัติต้องดูให้ดีว่า โครงสร้างระบบบริการสุขภาพ รวมถึงจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ในระบบเอื้อต่อการดำเนินการหรือไม่ แม้ว่าจะมีความพยายามเร่งผลิต แต่อาจต้องใช้เวลาโดยดูความเป็นไปได้ด้วย

อย่างการประกาศเร่งผลิตแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจำนวน 6,500 คนภายใน10 ปี ซึ่งปัจจุบันจะมีการผลิตแพทย์สาขานี้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 3 ปี ในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งแต่ละปีรวมแล้วสามารถผลิตได้เพียงปีละร้อยกว่าคนเท่านั้น ด้วยจำนวนการผลิตนี้ระยะเวลา 10 ปี ย่อมไม่ถึงเป้าหมาย ที่ผ่านมาจึงมีการหาวิธีเร่งผลิตที่หลากหลายวิธี อาทิ อบรมระยะสั้น ฝึกปฏิบัติงานใน รพ.ชุมชน ฯลฯ ส่งผลให้คุณภาพของหลักสูตรและบุคลากรที่เข้าอบรมมีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลในทางปฏิบัติได้ และเป็นสิ่งที่ต้องระวัง

อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพคนในชุมชน ปัจจุบันมีแนวคิดที่แตกต่างจากเดิมไม่ได้จำกัดเพียงแค่เรื่องสุขภาพที่ว่าด้วยโรคเท่านั้น แต่เป็นการดูแลสุขภาพคนในทุกมิติของการใช้ชีวิต ดังนั้นหากเราออกแบบนโยบายทีมหมอครอบครัวโดยอิงเพียงบุคลากรระบบสุขภาพภายใต้กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว ทั้งหมอ พยาบาล เภสัชกร ทันตบุคลากร และนักกายภาพบำบัด เป็นต้น คงไม่เพียงพอที่จะสามารถดูแลสุขภาพคนในชุมชนได้ทั้งหมดอย่างที่ได้โฆษณา เกินกำลังทีมหมอครอบครัวที่จะทำได้

“หมอครอบครัวที่มีโครงสร้างประกอบด้วยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อเปรียบเทียบกับภารกิจการดูแลสุขภาพคนในชุมชนทุกมิติ คงเป็นเรื่องยากที่จะทำสำเร็จได้ แต่หากขยายแนวคิดโดยดึงคนในชุมชนร่วมเป็นฐาน และให้ขยายสู่วิชาชีพที่หลากหลายให้เข้ามามีส่วนร่วม จะทำให้มีกำลังคนทำงานที่เพิ่มมากขึ้น เป็นการขยายแนวคิดการดูแลสุขภาพคนในชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนสามารถยืนได้ด้วยขาตนเองในระยะยาว” ผศ.นพ.ธีระ กล่าวและว่า การขยายแนวคิดหมอครอบครัวสู่ฐานชุมชน เป็นวิวัฒนาการในทางปฏิบัติหลังจากที่ได้มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การดำเนินนโยบายตรงกับความเป็นจริงและเกิดผล หากดูแล้วเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นเป็นไปได้ยาก

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายต่างๆ ลงสู่หมอครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความกดดันต่อหมอครอบครัวหรือไม่ ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า แน่นอนเพราะเมื่อมีการใส่นโยบายต่างๆ ด้านสุขภาพลงสู่หมอครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยฝากทั้งภาระงานและความหวังการดูแลสุขภาพประชาชนไว้ที่หมอครอบครัว ย่อมทำให้ให้คนทำงานรู้สึกกดดัน ในบางพื้นที่มีทุนเดิมสูงและดำเนินงานหมอครอบครัวมาก่อนหน้านี้ก็คงสามารถทำได้ แต่โรงพยาบาลในหลายพื้นที่เพิ่งเริ่มต้นทีมหมอครอบครัวก็ต้องเห็นใจกัน ประกอบนโยบายด้านสุขภาพจากนี้จะมีการใช้กลไกเชิงพื้นที่มากขึ้น ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายและรัฐบาลต้องตระหนักถึงความพร้อมที่แตกต่าง เมื่อมีการกำหนดนโยบายใด โปรดอย่าใช้ตัวชี้วัดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ควรให้พื้นที่มีบทบาทกำหนดเอง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการทำงานของหมอครอบครัวในแต่ละพื้นที่เพื่อนำสู่การพัฒนาดูแลสุขภาพประชาชนภาพรวมทั้งประเทศได้อย่างทั่วถึง