ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันทันตกรรม เตือนผู้ที่มีฟันผุ ฟันเป็นรู หรือฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ เนื้อฟันแตก หัก จนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน สามารถรักษาฟันไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอนฟันออก ช่วยป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อฟันซี่อื่น แต่หากละเลยไม่รักษาอาจนำไปสู่การติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน และอวัยวะข้างเคียงได้

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษารากฟัน คือวิธีรักษาการติดเชื้อในโพรงประสาทฟันจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายในปาก เข้าไปสร้างปัญหาเมื่อเกิดฟันผุ ฟันเป็นรู หรือฟันที่ได้รับอุบัติเหตุทำให้เนื้อฟันแตก หัก ซึ่งการรักษารากฟันไม่จำเป็นต้องถอนฟัน ภายหลังการรักษาจะช่วยให้การเคี้ยวอาหารกลับมามีประสิทธิภาพ รูปร่างของฟันกลับมาสวยงาม และป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ช่วยป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อฟันซี่อื่น แต่หากละเลยไม่รักษาอาจนำไปสู่การติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน และอวัยวะข้างเคียงได้ ทำให้ฟันซี่นั้นเสียหายจนต้องถอนฟัน ซึ่งการถอนฟันที่ไม่มีการใส่ฟันปลอมทดแทน จะก่อเกิดปัญหาต่อการกัดหรือเคี้ยวอาหาร ทำให้ฟันเคลื่อน และยากต่อการทำความสะอาดช่องปาก ดังนั้นจึงควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ และรับการตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน

ด้านทันตแพทย์สมศักดิ์ ศรีพนารัตนกุล ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อโพรงประสาทฟันติดเชื้อจะทำให้เกิดความเจ็บปวด และอาจเกิดหนองที่ปลายรากฟัน ซึ่งอาจลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง การรักษารากฟันจะช่วยหยุดการติดเชื้อ ลดอาการปวดฟัน และทำให้ฟันซี่นั้นยังคงอยู่ต่อไปได้ ทั้งนี้อาการบ่งชี้ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรับการรักษา ได้แก่ รู้สึกเสียวฟันเมื่อดื่มเครื่องดื่มที่เย็นหรือร้อน เจ็บเวลาเคี้ยวหรือกัดอาหาร ฟันหลวมหรือโยก มีอาการบวมและนิ่มลงของเหงือกบริเวณฟันที่ติดเชื้อ มีน้ำหนองไหลจากฟันที่ติดเชื้อ หรือมีตุ่มหนองขึ้นบนเหงือก สีของฟันคล้ำลง หน้าบวม

ซึ่งทันตแพทย์จะรักษาโดยการทำความสะอาดในโพรงประสาทฟันและอุดปิดด้วยวัสดุอุดคลองรากฟัน และทำการบูรณะฟันด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันในซี่ที่ได้รับการรักษารากฟัน โดยฟันที่ได้รับการรักษารากฟันในช่วงแรก อาจมีอาการเจ็บภายหลังการรักษา จึงควรปฏิบัติตัวดังนี้ งดรับประทานอาหารจนกว่าอาการชาที่ปากจะหมดไป เพื่อป้องกันการกัดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มโดยไม่ตั้งใจ ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหรือกัดอาหารด้วยฟันซี่ที่รักษารากฟัน รักษาความสะอาดด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันตามปกติ นอกจากนี้หากรู้สึกว่ามีวัสดุอุดฟันชั่วคราวหลุดออกมา หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัดให้รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข