ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณราวๆ ปีละ 500 ล้านบาท โดยเปล่าประโยชน์

เงินจำนวนมหาศาลเหล่านั้น คืองบประมาณสำหรับซื้อยา “รักษาจอตา” ที่ชื่อว่า รานิบิซูแมบ (Ranibizumab) เฉลี่ยแล้ว เข็มละ 4.5 หมื่นบาท

ยา Ranibizumab เป็นยารักษาจอตา ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นยาสำหรับรักษาโรคจอตา

ทว่า ส่วนผสมในยา Ranibizumab กลับคล้ายคลึงกับ “ยาต้านมะเร็ง” ที่ชื่อว่า บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) ซึ่งมีราคาเพียงเข็มละ 500-1,000 บาท

ที่สำคัญคือ ยาทั้งสองชนิดนี้ผลิตขึ้นโดยบริษัทยาข้ามชาติเดียวกัน

ต่างกันแค่เพียง ยาชนิดแรกระบุข้อบ่งชี้ไว้ว่าสำหรับรักษาจอตา ส่วนยาชนิดหลังระบุไว้ว่าเป็นยาต้านมะเร็ง

เดิมทีบริษัทยาข้ามชาติได้ผลิตยาต้านมะเร็งขึ้นมาก่อน ยาดังกล่าวถูกใช้อย่างแพร่หลาย และมีจักษุแพทย์ในต่างประเทศนำเอาไปใช้รักษา “โรคจอตา” เพราะมีราคาถูก

แม้ว่ายอดขายยาต้านมะเร็งจะเพิ่มมากขึ้น แต่บริษัทยาข้ามชาติผู้ผลิตมองว่าเป็นการใช้ยาผิดประเภท จึงทำการผลิตยาออกมาอีกหนึ่งชนิด ส่วนผสมคล้ายคลึงกับของเดิม แต่ระบุข้อบ่งชี้ไว้ว่าใช้สำหรับรักษาจอตาโดยเฉพาะ

ราคาเปิดตัวแพงขึ้นกว่าเดิม 40-80 เท่าตัว

...

ที่ประเทศอังกฤษ บริษัทยาได้ยื่นฟ้องแพทย์ท้องถิ่นจากพฤติกรรมนำยาต้านมะเร็งมารักษาโรคจอตา

ทว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลแห่งอังกฤษและเวลส์ได้พิพากษาว่าจักษุแพทย์ท้องถิ่น “ไม่ผิด”

ศาลวินิจฉัยว่า การที่แพทย์เลือกใช้ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab ด้วยเหตุผลด้านราคาเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

นั่นเพราะ ทั้งยาต้านมะเร็งและยารักษาจอตาของบริษัทยา ไม่ได้มีผลการรักษาและความปลอดภัยที่แตกต่างกัน

ปัจจุบัน จักษุแพทย์หลายประเทศทั่วโลกยังคงใช้ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab รักษาโรคจอตา เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการรักษาได้

...

สำหรับประเทศไทย ทุกวันนี้มีผู้ป่วยจอตาเสื่อมจากภาวะสูงอายุ หรือโรคเบาหวาน ประมาณปีละ 1 หมื่นราย

แนวโน้มผู้ป่วยยังเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี

การรักษาด้วยยาฉีดชนิดนี้ เฉลี่ยแล้วผู้ป่วย 1 ราย รวมแล้วจะต้องฉีด 6 เข็ม (ข้างละ 3 เข็ม)

ถ้าใช้ยารักษาจอตา สนนราคาเฉียดๆ 3 แสนบาท

ถ้าใช้ยาต้านมะเร็ง คาดว่าไม่เกิน 6,000 บาท

...

ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2555

คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกาศให้บรรจุยาต้านมะเร็ง Bevacizumab สำหรับรักษาโรคจอตาได้ “เป็นประเทศแรกของโลก”

ถัดจากนั้น 1 ปี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab อยู่ในรายการยา Model Lists of Essential Medicines (รายชื่อยาจำเป็นที่มีในบัญชียา) สำหรับโรคจอตา

...

เมื่อยาต้านมะเร็ง Bevacizumab อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จึงให้สิทธิโรงพยาบาลเบิกจ่ายเพื่อใช้รักษาคนไข้ได้อย่างฟรีๆ

ทว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการ กรมบัญชีกลางเปิดช่องให้ใช้ยาชนิดใดก็ได้

แพทย์ส่วนใหญ่จึงเลือกเบิกแต่ยารักษาจอตา Ranibizumab

งบประมาณประเทศจึงพุ่งขึ้นอย่างมหาศาล

ประมาณการกันว่า แต่ละปีหมดเงินไปไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท กับยาชนิดนี้เพียงอย่างเดียว

...

เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจอย่างปราศจากข้อสงสัย

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนงบประมาณให้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ ชมรมจอตา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลขอบการฉีดยาต้านมะเร็ง Bevacizumab และ Ranibizumab เข้าวุ้นตาในการรักษาผู้ป่วย

ผลการศึกษา ชี้ชัดว่า ยาทั้งสองชนิดนี้ ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ในแง่ของ “ความปลอดภัย”

ขณะที่ “ประสิทธิผล” ในการรักษา หากผู้ป่วยได้รับการฉีดครบ 3 เข็ม ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab ให้ผลการรักษาที่ดีมากกว่าด้วย

คิดเป็น 47% ต่อ 28-38%

แต่หากฉีดแค่เข็มเดียว ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab ให้ผลการรักษาที่น้อยกว่าเล็กน้อย

คิดเป็น 33-35% ต่อ 36-42%

...

คณะนักวิจัย ได้สรุปผลการศึกษาเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข โดยให้ความเห็นว่า ควรให้ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ กำหนดให้ใช้ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab เป็นทางเลือกแรก สำหรับผู้ป่วยโรคจุดภาพชัดของจอตาเสื่อมจากเหตุสูงวัยชนิดที่มีหลอดเลือดงอกผิดปกติ (AMD) และโรคจุดภาพชัดบวมน้ำจากโรคเบาหวาน (DME)

ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจาก 2 โรคข้างต้นแล้ว การใช้ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab รักษาโรคหลอดเลือดดำที่จอตาอุดตัน (RVO) มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยมีค่าระดับสายตาดีขึ้นด้วย จึงเสนอให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ขยายข้อบ่งชี้ต่อไป

...

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ แพทย์และนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ก่อตั้ง HITAP และหัวขบวนในการทำการศึกษาวิจัย อธิบายว่า ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab ผลิตออกมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และจักษุแพทย์เห็นว่าผลของยาน่าจะใช้รักษาโรคจอตาได้ จึงมีการทดลองใช้ และพบว่าผลการรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าวิธีการรักษาเดิมคือการฉายแสง

จึงตีพิมพ์เป็นรายงานทางการแพทย์ต่อๆ กันทั่วทั้งโลก และทั่วทั้งโลกก็เลือกใช้ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab มาฉีดรักษาจอตา

เมื่อบริษัทยาทราบว่าผลการรักษาโรคจอตาด้วยยาต้านมะเร็ง Bevacizumab ดีมาก และเป็นที่ยอมรับของแพทย์ทั่วโลก จึงผลิตยาตัวใหม่ออกมาขาย ระบุข้อบ่งชี้ว่าใช้สำหรับรักษาโรคตา โดยบวกราคาเพิ่มมากถึง 40-80 เท่า

“จากนั้นบริษัทยาจึงไปฟ้องรัฐบาลท้องถิ่นในประเทศอังกฤษ ว่าซื้อยาไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย นั่นทำให้จักษุแพทย์ในไทยจำนวนมากเป็นกังวล ไม่กล้าฉีด แต่หากไม่ฉีดก็จะทำให้คนไข้ปีละ 700-800 ราย ตาบอด จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัย เพื่อนำเสนอ รมว.สธ.ให้มีนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดร.นพ.ยศ กล่าว

ดร.นพ.ยศ อธิบายต่อว่า เมื่อราวๆ 5 ปีก่อน ประเทศไทยได้ประกาศให้ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab อยู่ในยาบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีข้อบ่งชี้ในการฉีดตาได้ ขณะนั้นเกิดเป็นเรื่องใหญ่เพราะบริษัทยาข้ามชาติจะฟ้องรัฐบาลไทย

ทว่า ขณะนี้ผลการพิพากษาของศาลอังกฤษก็ระบุออกมาแล้วว่า องค์กรท้องถิ่นซื้อยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรักษาตามาฉีดตา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการขึ้นทะเบียนของบริษัทยาแต่อย่างใด

“หน้าที่ของบริษัทยาคือการขึ้นทะเบียน แต่การใช้เป็นเรื่องของแพทย์ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เพื่อรักษาโรคอื่นๆ แต่หากยานั้นมีประโยชน์และใช้รักษาได้ ย่อมเป็นเรื่องของแพทย์ในการนำไปใช้ ตัวอย่างเช่น ยาไวอาก้า ในขนาดที่เหมาะสม สามารถช่วยรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจรั่วในเด็กได้” อาจารย์ยศ กล่าว

...

นอกจากทิศทางของนโยบายในการกำหนดให้ใช้ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab เป็นทางเลือกแรกในการรักษาผู้ป่วยจอตาแล้ว

อีกสิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไปก็คือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ทุกวันนี้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นอุปสรรคต่อการทำงานในแวดวงการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก เนื่องจากบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

กรณียาต้านมะเร็ง Bevacizumab ซึ่งบริษัทยาข้ามชาติจะขายเป็นขวดใหญ่ แต่การนำมาใช้รักษาโรคจอตานั้นจะใช้เพียงเล็กน้อย

ยาต้านมะเร็ง Bevacizumab 1 ขวด สามารถแบ่งฉีดได้ 40-60 เข็ม

ทว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีงบประมาณที่จะซื้อยาขวดใหญ่ และไม่สามารถแบ่งยาเหล่านี้ได้ เนื่องจากไม่มีสถานที่ เทคโนโลยี และความชำนาญในการแบ่งยา

ทางออกคือ โรงพยาบาลขนาดเล็กต้องไปขอแบ่ง หรือขอซื้อต่อมาจากโรงพยาบาลใหญ่

ทว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ระบุว่า การดำเนินการเช่นนี้ทำไม่ได้

นั่นคืออุปสรรคหนึ่งของการรักษา และสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท

เรื่องที่เกี่ยวข้อง