ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปส.แจงประกาศเรื่องหลักเกณฑ์จ่ายเพิ่มให้ รพ. อิงค่า HA เพื่อผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นหนังสือขอให้สำนักงานประกันสังคมปรับปรุงแก้ไข ทบทวน ประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยระบุว่า ประกาศฯ ดังกล่าว ถือได้ว่าขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์และการตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าวพบว่ายังเป็นการนำเงินของผู้ประกันตนไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลโดยที่มิใช่เพื่อการรักษาพยาบาล ว่า

สำนักงานประกันสังคมได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีตัวแทนผู้ประกันตน นายจ้าง และสถานพยาบาลเห็นด้วย และค่าบริการทางการแพทย์เดิมจะจ่ายในรูปแบบเหมาจ่าย ซึ่งไม่สะท้อนคุณภาพการให้บริการแก่ผู้ประกันตน ดังนั้น การจ่ายค่าบริการเพิ่มเป็นการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของสถานพยาบาล และเป็นในลักษณะเดียวกับเงินเหมาจ่าย จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ดีขึ้น และยังเป็นการป้องกันการเกิดข้อร้องเรียนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับการรักษาไม่เหมาะสมตามมาตรฐานทางด้านการแพทย์ อีกทั้งเป็นการจ่ายเพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้ประกันตนในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ซึ่งมีตัวชี้วัดความพึงพอใจของผู้ประกันตนในการใช้บริการ โดยสะท้อนผลลัพธ์การให้บริการของสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินทุกประเภทของสำนักงานประกันสังคมมีระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.2555 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 (โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง) ข้อ 12 (1) จ่ายเป็นค่าบริการทางการแพทย์ หรือค่ายาตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการทางการแพทย์ รวมถึงต้องปฏิรูประบบให้บริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน