ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลไทยเจ๋ง ผ่านรับรอง JCI กว่า 60 แห่ง ผงาดอันดับ 1 อาเซียน อันดับ 2 เอเชีย เป็นรองแค่จีน “ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ” พาโรงพยาบาลชุมชนคว้ามาตรฐานตั้งแต่ปี 2558 เป็นโรงที่ 3 ของรัฐ

นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย

นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่ได้รับรองมาตรฐานสากล JCI ในปี 2558 กล่าวในงานสัมมนาเครือข่ายคุ้มครองสิทธิ ประจำปี 2562 ตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อได้รับรองมาตรฐาน HA ซ้ำมาแล้ว 3 ครั้ง จนกระทั่งเข้าสู่ครั้งที่ 4 ในปี 2558 ขณะนั้นรู้สึกว่าไม่สามารถกระตุ้นการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนตัวจึงคิดถึงมาตรฐานใหม่ที่เรียกว่า JCI ซึ่งที่ผ่านมามักจะได้รับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาโดยตลอดว่าเป็นเรื่องยาก มีราคาแพง เหมาะสำหรับโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น

“ตอนนั้นก็คือว่ามันจะแพงยังไง มันจะยากยังไง จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายให้ฟังว่า JCI คืออะไร ประเมินอย่างไร พอเราฟังแล้วก็คิดในใจว่ามันก็น่าจะทำได้นะ เพราะ JCI จะให้โจทย์มาก่อน มี 10 ข้อใหญ่ แยกได้เป็นกว่า 1,000 ข้อย่อย แต่มี 6 ข้อสำคัญที่จะต้องผ่าน โดยผู้ประเมิน-ผู้สังเกตการณ์มาจากสหรัฐอเมริกา โดยขณะนั้นเมื่อทราบแล้วว่า JCI คืออะไร จึงพูดคุยกับทีมงาน ตัดสินใจลุย” นพ.วัฒนา กล่าว

สำหรับ 6 ข้อสำคัญที่จะสอบตกไม่ได้ ได้แก่ 1. การแยกแยะคนไข้ต้องถูกต้อง ผิดพลาดไม่ได้ 2. การสื่อสารระหว่างแผนก ระหว่างวิชาชีพ ต้องมีระบบเป็นรูปธรรม 3. ต้องมีมาตรฐานสำหรับยาที่มีความเสี่ยงสูง ห้ามผิด ห้ามหมดอายุ 4. การผ่าตัดผิดคน ผิดอาการ ต้องไม่เกิดขึ้น โดยมีการตรวจสอบกันถึง 5 รอบ 5. การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล และ 6. การป้องกันการตกเตียง ตกรถเข็น หกล้ม ซึ่งหากแต่ละโรงพยาบาลมีการบันทึกสถิติไว้จะพบว่ามีจำนวนไม่น้อย

นพ.วัฒนา กล่าวต่อไปว่า เมื่อ JCI เป็นของใหม่ จึงเกิดความตื่นเต้นเร้าใจ และเมื่อมองว่าต่างชาติเป็นคนเข้ามาประเมินก็เกิดการรวมพลังกันว่าจะแพ้ไม่ได้ ตรงนี้ก็ช่วยกันเติมเต็มกัน นั่นเพราะยังมีหลายจุดที่ยังขาดตกบกพร่อง ไม่เป็นไปตามมาตฐานที่ควรเป็น ดังนั้นจึงใช้เวลาร่วมๆ 1 ปีเศษ

“เราประเมินแล้ว เรามีความพร้อมเรื่องสถานที่ ความสามารถ เรามีพันธมิตร มีงบประมาณ แม้ว่าขณะนั้นโรงพยาบาลจะติดตัวแดงอยู่ในระดับ 7 แต่เราไม่ได้มองตรงนั้นเป็นปัญหา ไม่ได้กังวล เพราะเราลงทุนเพื่อบริการประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือหากผ่านมาตรฐานจะช่วยให้คนในต่างจังหวัดเข้าโรงพยาบาลที่มีคุณภาพระดับสากลเทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆ ใน กทม.ได้ รวมถึงสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กรด้วย เหล่านี้คือเหตุผลให้เราตัดสินใจเข้าสู่การทำมาตรฐาน JCI” นพ.วัฒนา กล่าว

นพ.วัฒนา กล่าวอีกว่า จนถึงปี 2560 ประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับรองมาตรฐาน JCI ประมาณ 60 โรง ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลของภาครัฐ 3 โรง ขณะที่ทั้งอาเซียนมีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรอง 128 โรงเท่านั้น นั่นหมายความว่าประเทศไทยมีมากที่สุดในอาเซียน แต่ถ้าเทียบทั้งเอเชียจะพบว่าประเทศจีนมีมากที่สุด คือ 89 โรง ส่วนประเทศไทยเป็นลำดับที่ 2 โดยทั่วทั้งโลกมีประมาณ 1,000 โรงเท่านั้น

“การดำเนินงาน ในขั้นแรกเราก็ให้ความรู้บุคลากรก่อน จากนั้นก็ประกาศนโยบายทุบหม้อข้าวหม้อแกงว่าต่อไปนี้เราจะประเมินคุณภาพในระบบ JCI แต่ก็ไม่ละทิ้ง HA เนื่องจากทั้งสองมาตรฐานมีเป้าหมายเดียวกัน จากนั้นทีมต่างๆ ก็ไปแจ้งแนวปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ทั้งโรงพยาบาลรับรู้ทั้ง 100%” นพ.วัฒนา กล่าว