ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ศิริราช’ มุ่งสู่ความเป็นเลิศระดับสากล ผู้อำนวยการ เปิด 4 เสาหลัก สร้างความศรัทธาประชาชน ยอมรับโรงพยาบาล 2 พันเตียงย่อมมีข้อผิดพลาด แต่มีระบบตรวจสอบย้อนหลังทุกขั้นตอน

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์

รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ในฐานะโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน HA กล่าวในงานสัมมนาเครือข่ายคุ้มครองสิทธิ ประจำปี 2562 ตอนหนึ่งว่า คำว่ามาตรฐานแท้จริงแล้วคือสิ่งที่เป็นหลักสำหรับเปรียบเทียบกันในด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะเป็นเกณฑ์กึ่งกลางที่ควรมี โดย อย. ISO ฉลากหมายเลข 5 หรือแม้แต่เชลชวนชิมก็นับเป็นมาตรฐานประเภทหนึ่ง

สำหรับวัตถุประสงค์ของการมีมาตรฐาน 1. สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคหรือผู้รับบริการ 2. ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการมีการพัฒนาตัวเอง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นมาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่ดีทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ขาย

รศ.นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศ อายุ 130 ปี มีเตียงกว่า 2,000 เตียง บนเนื้อที่ 110 ไร่ และมีบุคลากรรวมทั้งสิ้น 1.5 หมื่นคน ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 3 ล้านครั้ง ผู้ป่วยในปีละ 8.4 หมื่นราย มีทิศทางการทำงานคือเราจะเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน มุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล โดยจะสำเร็จได้จำเป็นต้องได้รับศรัทธาจากประชาชน ซึ่งก็ต้องมีพื้นฐานมาจากการให้บริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ภายใต้ 4 เสาหลัก

ประกอบด้วย 1. ปลอดภัย กล่าวคือผู้ที่มาโรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วย ญาติ ต้องปลอดภัย คือต้องไม่แย่ไปกว่าเดิม 2. คุณภาพ ซึ่งแยกได้เป็น 2 เรื่อง ได้แก่ คุณภาพของการรักษา อาทิ รักษาโรคหายเท่าใด ไม่หายเท่าใด และคุณภาพของการให้บริการ อาทิ ภายใต้งบประมาณจำกัดจะให้การบริการที่มีคุณภาพอย่างไร 3. ผลิตภาพ หมายความว่าใช้ต้นทุนเท่ากันแต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

4. นวัตกรรม กล่าวคือโรงพยาบาลศิริราชจะไม่มีทางทำใน 3 เรื่องแรกได้ดีขึ้นเลย หากยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพ และมีความคุ้มค่า โดย 4 เสาหลักนี้ ต้องอยู่ภายใต้ฐานคุณธรรมและจริยธรรม

“ต้องเข้าใจก่อนว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เพราะแม้แต่ตัวของเราเองยังลืมกินยารักษาโรคประจำตัวได้เลย แต่เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันทีถ้าหากพยาบาลลืมจัดยาให้คนไข้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มองว่าเป็นความผิดพลาดของระบบ อย่างโรงพยาบาลศิริราชที่มีสองพันกว่าเตียง บุคลากร 15,000 คน ก็พบความผิดพลาดคนละเล็กละน้อย แต่ทุกวันนี้ไม่เกิดเรื่องเพราะเมื่อผิดตรงนี้-ตรงนี้ดักเจอ เมื่อพยาบาลฉีดยาไม่ตรงเวลาหัวหน้าพยาบาลก็มาบอก ยาหมดอายุก็มีเภสัชกรคอยตรวจสอบ หรือเอาคนไข้ผิดคนไปผ่า ระหว่างทางก็มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ถามชื่อถามประวัติ กันหลายรอบ เพื่อให้เกิดความแน่ใจก่อนถึงห้องผ่าตัด” รศ.นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

รศ.นพ.วิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า อีกกระบวนการสำคัญคือการออกแบบระบบงานโดยมีเป้าประสงค์ แล้วเริ่มเรียนรู้ ลองทำ เก็บข้อมูล กำหนดตัวชี้วัดเป็นขั้นๆ มีการประเมินและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยการทำให้กระบวนการพัฒนาได้นั้นจำเป็นต้องมีทั้งมาตรฐาน และการใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพด้วย

“มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลของประเทศไทยเรียกว่า HA ผ่านการประเมินจากภายนอก นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าอาจารย์แพทย์รายเดียวอาจผ่าตัดรักษาไม่เคยผิดพลาด แต่เมื่อพูดถึงภาพใหญ่ในกระบวนการรักษาพยาบาลมีผู้เกี่ยวข้องหลากหลาย ดังนั้น HA เปรียบได้กับกลไกการส่องกระจกตัวเอง โดยโรงพยาบาลศิริราชเข้าสู่กระบวนประเมิน HAตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันรับรองซ้ำมาแล้ว 5 ครั้ง และปัจจุบันกำลังจะก้าวไปสู่มาตรฐานใหม่คือการเป็นโรงพยาบาลขั้นก้าวหน้า” รศ.นพ.วิศิษฎ์ กล่าว