ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อพูดถึงจำนวนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในภาพรวมถือว่ามีน้อยแล้ว การจะหา รพ.สต. ที่สังกัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งถือว่าน้อยยิ่งกว่าน้อย อย่างไรก็ดี รพ.สต.บ้านคำหวัน ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก เป็นหนึ่งใน รพ.สต. ไม่กี่แห่งที่ว่านี้

บุญรัตน์ ใหม่โม่ง ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านคำหวัน

บุญรัตน์ ใหม่โม่ง ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านคำหวัน กล่าวว่า บริบทพื้นที่ของ ต.แม่ตื่น เป็นพื้นที่ป่าเขา 3,200 ไร่ ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติส่วนหนึ่งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกส่วนหนึ่ง เส้นทางทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้าใช้ มีประชากร 13 หมู่บ้าน รวมประชากรประมาณ 9,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ โดย รพ.สต.บ้านคำหวันดูแล 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่จะมี รพ.สต. 1 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) 4 แห่ง สุขศาลา 2 แห่ง และสุขศาลาพระราชทานอีก 1 แห่ง รวมบุคลากรทั้งใน รพ.สต.และ สสช.ในเครือข่ายทั้งหมด 25 คน

บุญรัตน์ กล่าวว่า ที่มาที่ไปของการถ่ายโอนมาสังกัดกับ อบต.แม่ตื่น เนื่องจากแต่เดิม รพ.สต.มีเจ้าหน้าที่เพียง 3 คน จึงทำงานไม่ไหวเมื่อเทียบกับพื้นที่รับผิดชอบซึ่งอยู่ในป่าเขาและเส้นทางทุรกันดาร จึงขอการสนับสนุนจาก อบต.ว่ามีแนวทางใดที่จะช่วยเหลือได้บ้าง ปลัด อบต.ในขณะนั้นจึงทำโครงการจ้างบุคลากรมาประจำ สสช.แห่งละ 2 คน รวมงบประมาณปีละ 1 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นปลัดคนอื่นๆ อาจบอกว่าทำไม่ได้ ติดขัดกฎระเบียบต่างๆ แต่โชคดีที่ปลัดท่านนี้มองว่าเมื่อเป็นปัญหาของชาวบ้านต้องแก้ให้ได้และพยายามผลักดันจนได้

นอกจากจ้างบุคลากรแล้ว โครงการทุกอย่างที่ รพ.สต. ขอไป ทาง อบต.ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมถึงครุภัณฑ์การแพทย์ต่างๆ เพราะรู้ว่าสภาพพื้นที่อยู่ห่างไกล ถ้าไม่ดูแลเรื่องสุขภาพ ประชาชนก็จะแย่ การสนับสนุนของ อบต. จึงเป็นไปอย่างต่อเนื่องมานาน 10 กว่าปี เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงคิดว่าถ้าไม่ถ่ายโอนมาอยู่กับ อบต. แล้วน้องๆ สิบกว่าคนที่จ้างมา หาก อบต.เลิกสนับสนุนจะทำอย่างไร ดังนั้นในปี 2555 รพ.สต.บ้านคำหวันจึงถ่ายโอนมาอยู่กับ อบต.ในที่สุด

"ดังนั้นไม่ว่าจะก่อนหรือหลังถ่ายโอน เราทำงานไม่ต่างกันเพราะได้รับการสนับสนุนอยู่ก่อนแล้ว และหากถามว่าเมื่อถ่ายโอนมาแล้วดีหรือไม่ดี ประเด็นนี้อยู่ที่มุมมองของผู้ปฏิบัติ เพราะถ้าคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนก็คงขัดแย้งกับนักการเมืองแน่นอน แต่ถ้าคิดถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เราสามารถทำงานกับใครก็ได้ จะไม่มีความขัดแย้ง ดังนั้นไม่ว่านายกฯจะมากี่คนกี่สมัย เราไม่มีปัญหาตรงนี้" บุญรัตน์ กล่าว

บุญรัตน์ กล่าวอีกว่า ข้อดีอีกประการเมื่อถ่ายโอนมาอยู่กับ อบต. คือได้งบประมาณมากขึ้น ทั้งงบจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนับสนุนเข้ามา ปีแรกที่ขอไปได้รถยนต์มา 3 คัน รถ EMS 1 คัน รถขับเคลื่อน 4 ล้ออีก 2 คันเพื่อใช้ส่งตัวผู้ป่วย และงบประมาณต่างๆ ไม่ว่าจะ สสช.ที่อยู่บนดอยสูง แค่งบก่อสร้างก็ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ ปีละไม่ต่ำกว่า 3-4 ล้านบาท ยังไม่รวมครุภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งได้งบประมาณจากข้อบัญญัติของ อบต.อีกส่วนหนึ่ง กองทุนสุขภาพตำบลอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น รพ.สต.คำหวันไม่มีปัญหาขาดงบประมาณ ในทางกลับกันบางทีทำไม่ทันด้วยซ้ำไปเพราะทำประมาณ 10 โครงการ/ปี เฉพาะงานประจำก็ทำแทบไม่ไหวเนื่องจากต้องออกพื้นที่ทำงานเชิงรุกทุกๆ 2-4 สัปดาห์

วีระพล บูชาคุณธรรม นายก อบต.แม่ตื่น

ด้าน วีระพล บูชาคุณธรรม นายก อบต.แม่ตื่น กล่าวว่า หลักการบริหารจัดการของ อบต. คือต้องรับใช้พี่น้องประชาชน โชคดีที่เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานด้วยใจ เมื่อถ่ายโอนมาแล้วจึงทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน แม้แต่บุคลากรที่โรงพยาบาลส่งมาช่วยงาน รพ.สต. ก็เหมือนมาช่วยงานของ อบต. ก็ทำงานกลมกลืนกัน จุดนี้เองต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลแม่ระมาดที่ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำเพื่อช่วยงาน รพ.สต. เพราะถ้าให้ อบต.จ้างเองคงไม่มีทางจ้างได้

นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด

ขณะที่ นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด กล่าวว่า ในส่วนของโรงพยาบาลมองว่าเรามีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งอำเภอ ไม่ได้แยกว่าตำบลนี้ถ่ายโอนหรือไม่ถ่ายโอน และถ้าคิดอีกมุมคือแต่เดิม รพ.สต.ก็ไม่ใช่หน่วยงานของโรงพยาบาลอยู่แล้ว สายการบังคับบัญชาอยู่กับสาธารณสุขอำเภอ แต่โรงพยาบาลก็ทำงานร่วมกับ รพ.สต.ทุกแห่งในลักษณะเครือข่ายเดียวกัน และพี่ๆน้องๆที่ทำงานใน รพ.สต. บางคนก็เคยทำงานในโรงพยาบาลมาก่อน บางคนก็เคยเป็นลูกศิษย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ต้องดูแลน้องๆใน รพ.สต. ช่วยให้ความรู้ ติดตามมาตรฐานการปฏิบัติ ฯลฯ อยู่แล้ว การดูแล รพ.สต. ที่มาอยู่กับท้องถิ่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก บางครั้งยังลืมไปเลยด้วยซ้ำว่าที่นี่ถ่ายโอนไปแล้ว

"เราไม่เคยคิดว่าถ่ายโอนแล้วไม่ส่งคนมาช่วย เราดูความจำเป็นมากกว่า เช่น อยู่ไกลโรงพยาบาล มีปัญหาสุขภาพ เราก็จัดคนมาประจำ" นพ.จิรพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาพรวมการถ่ายโอน รพ.สต. แล้ว ตนไม่กล้าพูดว่าถ่ายโอนแล้วจะสำเร็จทุกที่ เพียงแต่หลายที่มีความพร้อมก็ต้องให้โอกาส ถ้าคิดแบบทั่วๆ ไปอาจคิดว่า อบต.จะพร้อมรับการถ่ายโอนหรือไม่เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ รพ.สต.จะถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่นขนาดใหญ่ งบประมาณเยอะ แต่ท้องถิ่นขนาดเล็กไม่ค่อยมีที่ไหนถ่ายโอน แต่ของ รพ.สต.คำหวัน ทำได้ดี แสดงว่าการถ่ายโอนไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของท้องถิ่นหรือขนาดของงบประมาณ แต่เป็นความพร้อม ความกลมกลืนในการทำงาน การมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่ง รพ.สต.บ้านคำหวันมีความพร้อมตั้งแต่ต้น โรงพยาบาลแม่ระมาดจึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่