ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เผยคนไทยเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนสูงถึง 90% โดย 1 ใน 3 ของผู้หญิงอายุเกิน 60 ปี และ 1 ใน 5 ของผู้ชายอายุเกิน 60 ปี มีปัญหากระดูกพรุน โดยร้อยละ 90 ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ส่วนสาเหตุหลักเกิดจากบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่ไม่เพียงพอ แนะควรป้องกันการขาดแคลเซียมด้วยการบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงในทุกช่วงวัย หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อาทิ การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และ อาหารรสเค็มจัด

นพ.เทพรักษา เหมพรหมราช

นพ.เทพรักษา เหมพรหมราช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสมุทรสาคร เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคกระดูกพรุนของประเทศไทยในจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ ว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนถึง 90% องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลก เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุข อันดับ 2 ของโลกรองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โดยผู้หญิงทั่วโลกเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า 200 ล้านคน ในประเทศไทยถือเป็นภัยเงียบที่คนส่วนใหญ่มองข้ามและไม่ระวังตัว ซึ่งค่ารักษาโรคกระดูกพรุนต้องใช้เงินเฉลี่ยปีละ 300,000 บาท/คน

ส่วนสาเหตุหลักของการเป็นโรคกระดูกพรุนเกิดจากการขาดแคลเซียม ซึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นจะส่งผลให้กระดูกบางลง มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดกระดูกทรุด เปราะ หัก ได้ง่าย สำหรับอันตรายจากโรคกระดูกพรุนทำให้ ปวดหลัง หลังโก่งงอ เคลื่อนไหวลำบาก หายใจลำบาก ปอดทำงานได้ไม่ดี เหนื่อยง่าย มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิตเลยทีเดียว ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้ป่วยไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุน สำหรับอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุนในเพศหญิงนั้นจะสูงถึง 1 ใน 3 โดยเฉพาะในกลุ่มที่หมดประจำเดือนและอายุเกิน 60 ปี ส่วนในเพศชายมีอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุนประมาณ 1 ใน 5 ของกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 60 ปี

สำหรับการขาดแคลเซียมในคนไทยนั้น เกิดจากการที่คนไทยรับประทานแคลเซียมน้อยมากเฉลี่ยเพียงวันละ 361 มิลลิกรัม เนื่องจากอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวันมีแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยแต่ละช่วงวัยมีความต้องการแคลเซียมในแต่ละวันต่างกัน ในช่วงทารกมีความต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 270 มิลลิกรัม/วัน วัยเด็กต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 800 มิลลิกรัม/วัน วัยรุ่นต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 1,300 มิลลิกรัม/วัน วัยผู้ใหญ่ต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 1,000 - 1,200 มิลลิกรัม/วัน

คิดโดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตมนุษย์ต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน โดยในช่วงอายุ 0-30 ปีจะเป็นช่วงสะสมแคลเซียม อายุ 30-45 ปีเป็นช่วงที่พยายามรักษาระดับแคลเซียมให้อยู่ตัว หลังจากนั้นในช่วงอายุ 30 ปี ขึ้นไป ร่างกายจะไม่สะสมแคลเซียมอีกต่อไป จึงต้องมีการเสริมแคลเซียมให้ร่างกายสามารถรักษาระดับแคลเซียมในกระดูก และ เมื่อถึงอายุ 45 ปี จะเป็นช่วงที่มีการนำแคลเซียมในกระดูกมาใช้

ซึ่งต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่บริโภคอาหารที่มีแคลเซียมอยู่ไม่เพียงพอ เฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ 400 มิลลิกรัม/วัน เท่านั้น เนื่องจากอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวันมีปริมาณแคลเซียมต่ำ เช่น ขนมจีนมีปริมาณแคลเซียมต่อจานประมาณ 141 มิลลิกรัม ส้มตํามีปริมาณแคลเซียมต่อจานประมาณ 159 มิลลิกรัม ข้าวผัดกะเพรามีปริมาณแคลเซียมต่อจานประมาณ 14 มิลลิกรัม จึงควรมีการบริโภคอาหารที่ให้แคลเซียมสูงมากขึ้น ได้แก่ งาดํา นม ชีส นมถั่วเหลือง กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้อ่อน ผักคะน้า เมล็ดอัลมอนด์ บล็อกโคลี ถั่วขาว ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน เป็นต้น

นอกจากนั้นเพื่อให้เกิดการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายมากและดียิ่งขึ้น ควรมีการเสริมวิตามิน D ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เนื่องจากวิตามิน D เป็นตัวพาแคลเซียมเข้ากระดูก ช่วยการดูดซึมแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเราสามารถได้รับวิตามิน D ได้โดยตรงจากแสงแดดและอาหารประเภทปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู (mackerel) เนื้อวัว ชีส ไข่แดง เห็ด เป็นต้น ซึ่งหากได้รับวิตามิน D และ แคลเซียมอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงจากกระดูกพรุนได้ถึง 30%

ส่วนการป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้น ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ อาหารประเภท กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสเค็มจัด การรับประทานโปรตีนที่มากเกินพอดีเพราะจะไปขับแคลเซียมออกจากร่างกายมากเกินไป พฤติกรรมบางอย่างเช่น การเลิกสูบบุหรี่ และ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ กินยาเสริมแคลเซียม วิตามินดี หรือ การให้ยายับยั้งการทำลายกระดูกถ้ามีความจำเป็นและต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง