ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชาตรี” ระบุ กรณีบาง รพ.แยกบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ประชาชน สิทธิบัตรทองยังสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิเหมือนเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น ย้ำเป็นทางเลือกให้กับประชาชน รพ.ต้องไม่รอนสิทธิผู้ป่วย

นพ.ชาตรี บานชื่น

นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมบริการพื้นฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยมีหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศร่วมกันดูแล “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอเวลาเพื่อรับบริการต่างจากผู้ป่วยทั่วไป โรงพยาบาลจึงจัดบริการห้องฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่จากข้อมูลการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลพบว่า ในช่วงนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน บางแห่งมีจำนวนมาก จึงจัดแยกจัดบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ อย่างคลินิกพิเศษ ออกจากบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน ป้องกันความขัดแย้งจากการรอรับบริการที่แพทย์จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ทั้งลดแรงกดดันปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ จึงมีโรงพยาบาลบางแห่งจัดบริการนี้เพื่อถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่เนื่องจากทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งด้านบุคลากรที่ให้บริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ จึงต้องจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานของกองทุนรักษาพยาบาลที่ได้รับ

“ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่รับบริการนอกเวลาราชการในโรงพยาบาลที่แยกบริการรองรับ ที่เป็นหน่วยบริการตามสิทธิขึ้นทะเบียนบัตรทอง การเบิกจ่ายค่ารักษายังเป็นไปตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น เพียงแต่ต้องจ่ายสนับสนุนค่าจัดบริการเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน แต่ยืนกรานจะรับบริการที่ห้องฉุกเฉินก็เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก”

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการจัดบริการนอกเวลาราชการสำหรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนคือโรงพยาบาลต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบก่อน แต่อาจยังทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับมีโรงพยาบาลที่เปิดบริการนอกเวลาราชการมากขึ้น จึงมีเรื่องร้องเรียนมายัง สปสช. และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่วมกัน ทั้ง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมติร่วมกัน เน้นสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า สิทธิบัตรทองของประชาชนที่ได้รับ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหน่วยบริการต้องระวังไม่รอนสิทธิ แม้ว่าผู้ป่วยจะรับบริการที่คลินิกนอกเวลาราชการ แต่สิทธิประโยขน์พื้นฐานเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองยังอยู่ โรงพยาบาลเก็บเงินผู้ป่วยได้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการจัดบริการเท่านั้น และการเข้ารับบริการยังต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชนเอง เรื่องนี้หากทำได้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ เพราะประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือกองทุนรักษาพยาบาลอื่นไม่ได้เสียประโยชน์ แต่ช่วยแก้ปัญหาความแออัดในห้องฉุกเฉิน ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นผลดีกับทุกฝ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะผู้ป่วย ‘บัตรทอง’ ร้องเรียนขอคืนเงิน หากถูก รพ.เก็บค่ารักษานอกเวลาราชการ

สธ.ยืนยัน โรงพยาบาลเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้

สรุปสิทธิบัตรทองเข้า ER นอกเวลาไม่เสียเงิน แต่ต้องคิดว่าฉุกเฉินจริง และให้คิวอาการหนักก่อน