ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงนี้ ในแต่ละวันผมอ่านข่าวการออกนโยบายเรื่องต่างๆ จากสื่อแล้ว มีแต่ทำให้นึกถึงคำว่า "Mincing Policy"

หลายคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร? ทำไมจึงต้องเอ่ยถึง?

เท่าที่ดู ธรรมชาติของการเกิดนโยบายลักษณะนี้ มักถูกกระตุ้นผ่านทางอารมณ์ และเฮโลสาระพา พากันไปจนสุดตามสายป่านอำนาจ โดยออกนโยบายทั้งระดับหน่วยงาน ชุมชน หรือสังคม เพื่อสนองความต้องการโดยอาจมิได้ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญที่สุดคือ กลายเป็นการทำแบบ"เผาบ้านไล่หนู" จนก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวมในระยะยาว แต่สุดท้ายกลุ่มคนที่จุดไฟเผานั้นก็เปิดตูดหนีหายเข้ากลีบเมฆทุกทีไป จับมือใครดมก็ไม่ได้

อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีคนท้าทายอยู่ในใจว่า ไหน...พล่ามมานานแล้ว ไหนลองยกตัวอย่างมาซิ

นโยบาย "No gifts" หรือสั่งให้คนในองค์กรหรือหน่วยงานงดรับของขวัญนั้นอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าหยิบยกมาถกแถลงว่าเป็นการเผาบ้านไล่หนูหรือไม่?

ถามว่าทำไมผมจึงประเมินเช่นนั้น?

การให้ของขวัญแก่กัน จัดเป็นวัฒนธรรมที่มีมาช้านานในโลกนี้

วัฒนธรรม หรือแม้แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีอื่นๆ ที่เราเห็นในสังคมแต่ละอย่างล้วนมีที่มาที่ไป และมีข้อดี แม้บางครั้งหรือหลายครั้งถูกเอาไปใช้ในทางที่ผิด จนเป็นเรื่องผิดศีลธรรม ผิดจริยธรรมตามมาจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมวงกว้างได้ เช่น การติดสินบน โกง/คอรัปชั่น

แต่ไม่ได้หมายความว่าวิธีแก้ไขปัญหาอย่างคอรัปชั่นที่กำลังดูฮึ่มๆ อยากจัดการให้สิ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะต้องเลือกทำแบบให้เลิกวัฒนธรรม หรือขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นไป

หากใช้ปัญญาในการคิดวิเคราะห์ (ไม่ต้องแยกแยะก็ได้) จะจัดการแก้ไขปัญหา ที่ถูกคือควรจัดการที่คนที่ประพฤติมิชอบให้เด็ดขาด ให้หลาบจำ โดยไม่กระทำการให้เป็นที่ครหาด้วยว่าฝั่งตรงข้ามทำแล้วโดนเล่นหมด แต่พวกกรูทำแล้วยังไงก็ไม่ผิด เพราะมันผิดที่คนให้สินบน และคนรับสินบนที่รับมาและเอาสินบนที่ได้นั้นมาตัดสินใจกระทำการโดยมิชอบผ่านระบบงานที่มอบอำนาจการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่มีอะไรมาถ่วงดุลและตรวจสอบเพื่อคานอำนาจอย่างดีพอ

จัดการแค่คน...ยังไม่พอ

ควรจัดการระบบงานด้วย ให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจเวลามีอะไรไม่ชอบมาพากลจากการตัดสินใจที่ดูไม่เป็นเหตุผล

แต่นโยบายที่ออกมาให้เราทุกคนได้เห็น กลับมารณรงค์ให้เลิกวัฒนธรรมการให้ของขวัญ เพราะมองว่ามันคือตัวแปรที่ต้องกำจัดให้หมดไป

ถามว่ากำจัดของขวัญหน้าเทศกาลแล้ว เหล่าคนไม่ดีเค้าจะทำอย่างไร โถ...นักบริหารทั้งหลายน่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า มันให้และรับกันได้ในรูปแบบที่หลากหลายกว่าหน้าเทศกาล และหลากหลายกว่ารูปแบบของขวัญในกล่อง

นั่นแปลว่าการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ปิดป้ายกันเกร่อ โชว์ว่าหน่วยงานกรูไม่รับของขวัญนั้น มัน"ฉาบฉวย"ครับ ไม่ได้ช่วยแก้ไขต้นตอสาเหตุแต่อย่างใด และไม่ได้ทำให้เชื่อมั่นได้เลยว่าจะช่วยลดคอรัปชั่น

เหตุใดไม่เอาเงินที่ใช้กับการโฆษณาแคมเปญ No Gifts ไปใช้โฆษณาให้ประชาชนเค้าเห็นว่า หน่วยงานของนายไปทำอะไรกับคนผิดบ้าง นายไปปรับระบบงานอย่างไรบ้างให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตัดสินใจอย่างเหมาะสม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง พวกเขาพวกเรา

ไม่ใช่มาทำลายจนสาธารณชนต้องได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว

การให้ของขวัญหรือสิ่งต่างๆ ให้แก่กันนั้นมีมาตั้งแต่โบราณ และได้รับการศึกษาวิจัยพิสูจน์กันแล้วว่า "การให้"นั้นมีผลต่อความสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างคนในสังคม

สัตว์ประเภทชิมแปนซีนั้น ฝ่ายหญิงจะตัดสินใจยอมอยู่กินกับฝ่ายชาย โดยประเมินจากพฤติกรรมที่ฝ่ายชายแบ่งปันอาหารให้ ไม่ใช่เพราะเห็นแก่กิน แต่เพราะการให้หรือการแบ่งปันนั้นบ่งถึงการดูแล ห่วงใย เอาใจใส่กันและกัน

ชิมแปนซีนั้นเป็นสัตว์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์

มนุษย์เองก็เช่นกัน ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ การก่อตั้งชุมชน ชนเผ่า หรืออะไรก็ตาม ต้องดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก่อร่างความสัมพันธ์ ความผูกพัน ก็หนีไม่พ้นที่จะเกิดจากการให้ทั้งสิ้น

ในอดีตชนเผ่าต่างๆ จึงตัดสินคนในเผ่าจากระดับการแบ่งปัน ปันมากก็แสดงถึงศักยภาพในการดูแลปกครองคน ห่วงใยคน

การวิจัยปัจจุบันชี้ชัดว่า การให้นั้นเกิดประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้นั้นจะได้ประโยชน์คืนกลับด้านจิตใจอย่างมาก และการให้ของโน่นนี่นั่นรวมถึงของขวัญแก่กันและกันนี่แหละ คือปัจจัยที่เพาะบ่มให้มนุษย์มีความเป็นคน เข้าอกเข้าใจกัน นึกถึงกัน มากกว่าการที่จะต่างคนต่างอยู่

หากไม่มีการให้เช่นนี้ สังคมจะกลายเป็นหุ่นยนต์ แย่งกันกินแย่งกันใช้ แข่งเด่นแข่งดัง แข่งร่ำแข่งรวย และสุดท้ายจะกลายเป็นคิดอะไรตามใจตนเอง ไม่คิดหรอกว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร จะได้ผลกระทบอะไรจากการกระทำของฉัน

การจะให้ของขวัญแก่ใครสักคนที่เรารัก เราชอบ เราคุ้นเคยรู้จัก หรือเคารพนับถือ ตามวัฒนธรรมแต่ก่อนเก่า เรามักจะต้องคิดใคร่ครวญว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไร ชอบอะไรไม่ชอบอะไร และมีความหมายกับเราอย่างไรบ้าง แล้วเราจึงเฟ้นหาของไปให้เค้า หวังจะทำให้เค้า"ดีใจ"หรือเป็นสุข

เค้ามีการวิจัยพบว่าชายกับหญิงเลือกของขวัญให้แก่คนอื่นๆ แตกต่างกัน

ชายมักพิจารณาถึงเรื่องราคาค่างวด ความคุ้มค่า และความง่ายในทางปฏิบัติ

หญิงมักพิจารณาเรื่องละเอียดอ่อนทางสุนทรียะ อารมณ์

แต่ในปัจจุบันอาจมีการผสมปนเปกันบ้างแตกต่างตามความคุ้นชิน บุคลิก หรือปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่นๆ อย่างไรก็ตามการให้นั้นก็มีประโยชน์เหลือเกินต่อการทำให้เกิดความผูกพันของคนในสังคม (Social bonding)

ดังนั้นหากจะมุ่งปราบคอรัปชั่น แต่เลือกใช้นโยบายเผาบ้านไล่หนู แบบที่เห็นคนทำผิด ดังนั้นตัดแขนตัดขาให้หมดทุกคน มันจึงไม่ใช่เหตุผลอันควร ไม่สามารถแก้ปัญหาหลักที่อยากแก้ และก่อให้เกิดผลกระทบทางลบตามมาในระยะยาว

หากอยากจะให้สังคมดี เราทุกคนจึงควรช่วยกันสังเกต นำมาคิดไตร่ตรองด้วยปัญญา ก่อนจะตัดสินใจไปเชื่อ ไปชม ไปเชียร์ ไปแชร์

นโยบายที่สุ่มเสี่ยงยังมีอีกหลายเรื่อง หมายรวมถึงการรณรงค์ให้เลิกกราบไหว้พ่อแม่ที่โรงเรียนในวันพ่อวันแม่ ด้วยเหตุผลว่ามีเด็กที่บางคนไม่มีพ่อแม่ กลัวจะเป็นปมด้อย

เหตุผลแบบองุ่นเปรี้ยวแบบนี้ฟังไม่ขึ้น และนำไปสู่การทำลายแบบดราม่ามากกว่าสร้างสรรค์ วัฒนธรรมอันดีงามควรรักษาไว้ โดยทำ และอธิบายให้ลูกหลานเข้าใจถึงความงดงามในมารยาทและรักกตัญญู แม้จะมีหรือไม่มีพ่อแม่ ก็ยังมีปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา พี่น้อง หรือแม้แต่คนอื่นๆ ในสังคมที่ทำดีต่อเรา และเราสามารถถือโอกาสวันต่างๆ เหล่านั้นระลึกถึงพระคุณได้เช่นกันโดยไม่ต้องรู้สึกอายใคร

เอาล่ะ...กลับมาถึงเรื่องการปราบคอรัปชั่นด้วยนโยบายเลิกรับของขวัญ

เลิก Mincing Policy เถิดครับนักบริหารทั้งหลาย จะเลิกรับก็บอกกันเองวงใน ไม่ต้องมากวนน้ำให้ขุ่นในสังคมไทย ไม่ต้องมาออกข่าวโฆษณาปิดป้ายแบบที่ทำกันอยู่ เพราะไม่ได้น่าชื่นชม

จะเลิกรับของขวัญน่ะมันจิ๊บจ๊อย อยากให้เลิกโกง เลิกใช้อำนาจเอื้อพวกพ้อง และทำงานเพื่อสาธารณะให้จริงจัง สังคมจะเจริญกว่านี้มาก

สุขสันต์วันปีใหม่ และส่งมอบความปรารถนาดีและของโน่นนี่นั่นให้แก่กันตามสมควร มีความสุขกับการให้ และมีความสุขกับการรับ โดยอย่าให้ของขวัญมามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในระบบงานของท่าน

จะได้ประหยัดเงินทำป้าย และประหยัดเงินประชาสัมพันธ์ไปได้อีกโขครับ

ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น คงเห็นได้ว่า นโยบายนั้นส่งผลต่อคนหมู่มากในสังคม นโยบายที่ไม่รอบคอบจะทำให้สุขภาวะของสังคมสั่นคลอนได้ในระยะยาว

แหล่งข้อมูลอ่านเล่นเพิ่มเติม

1. Society for Personality and Social Psychology. "The psychology of gift-giving and receiving." ScienceDaily. ScienceDaily, 22 December 2014.

2. Russell W. Belk (1982) ,"Effects of Gift-Giving Involvement on Gift Selection Strategies", in NA - Advances in Consumer Research Volume 09, eds. Andrew Mitchell, Ann Abor, MI : Association for Consumer Research, Pages: 408-412.

3. Parker-Pope T. A Gift That Gives Right Back? The Giving Itself. The New York Times. December, 2007.

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์