ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ใครจะไปเชื่อว่าจากโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงธรรมดาๆ ที่ต้องเผชิญกับมรสุมวิกฤตขาดสภาพคล่องรุนแรงระดับ 7 (สูงที่สุด) มาอย่างยาวนานนั้น

จะสามารถพลิกฟื้นจนกลายมาเป็นหน่วยบริการที่กล้าประกาศตัวว่ากำลังจะเป็น “Digital Hospital” แห่งแรกของประเทศ ได้ในระยะเวลาเพียง 18 เดือน

เรื่องที่กำลังเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ “โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย” จ.กาญจนบุรี ภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการคนหนุ่ม “นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ”

นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย

รอยต่อระหว่างปี 2559-2560 คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง ที่จะพลิกโฉมโรงพยาบาลแห่งนี้ไปตลอดกาล

ราวๆ เดือนธันวาคม 2559 “นพ.ประวัติ” นับหนึ่งการบริหารงานในฐานะผู้อำนวยการ พร้อมๆ กับวิกฤตการณ์ขาดสภาพคล่องระดับ 7 ซึ่งสืบเนื่องมาจากเดือนตุลาคม และเป็นเหตุการณ์ที่ซ้ำซากมาตลอดหลายสิบปี

แต่โชคดียังเป็นของเขา เพราะคล้อยหลังจากนั้นเพียง 1 เดือน คือในเดือนมกราคม 2560 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้จัดสรรงบประมาณมาให้ตามกรอบเวลา นั่นทำให้ความขมึงเกลียวทางการเงินของโรงพยาบาลอ่อนกำลังลงจนอยู่ในระดับ 4

“ผมใช้เวลา 1 เดือนเต็มๆ อยู่กับข้อมูล เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมเราถึงขาดทุนมาตลอด”

สิ่งที่ “นพ.ประวัติ” ค้นพบ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดความคาดหมายสำหรับผู้บริหารโรงพยาบาลที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน หากแต่สิ่งที่คุณหมอนักบริหารท่านนี้ได้ดำเนินการ นับเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้และน่าถอดบทเรียนร่วมกัน

“เราพบว่าปัญหาอยู่ที่เราหาเงินไม่เก่ง ทั้งๆ ที่ยังมีช่องทางในการทำเงินได้อีกมากจากการทำงานเท่าเดิม”

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาต้องเข้าไปคลุกวงในร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เพื่อทำความเข้าใจกับตัวเลข สถิติ ตลอดจนระเบียบ กฎเกณฑ์ และวิธีการเบิกจ่าย (เคลม) งบประมาณจากกองทุนสุขภาพอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

“เดิมเราได้เงินจากกองทุนบัตรทองประมาณปีละ 30 ล้านบาท แต่เมื่อเราปรับปรุงส่วนนี้ ทำให้สามารถเคลมเพิ่มขึ้นได้กว่า 49 ล้านบาท”

เงินที่งอกเงยมาอีกเฉียดๆ 20 ล้านบาท หมายถึงงบประมาณที่จะถูกนำไปพัฒนาสถานพยาบาล และยกระดับการให้บริการประชาชน

การปฏิรูปการวิธีการหารายได้เพียงปีเดียว ทำให้โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยในขณะนี้กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็น “Digital Hospital” เต็มรูปแบบ ทั้งระบบคิว ระบบการนัดออนไลน์ ระบบการบันทึกข้อมูลผู้ป่วย และคาดว่าภายในปี 2562 จะเป็น “Paperless” ได้อย่างสมบูรณ์

การเคลมอย่างถูกต้อง เข้าใจ มีวินัย และเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถือเป็นดอกผลแห่งความสำเร็จที่มีส่วนสำคัญในการกอบกู้โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย แต่หากว่ากันตามกระบวนการแล้ว การเคลมนับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่อยู่ในช่วงปลายทาง

ส่วนต้นทางที่ทำให้โรงพยาบาลหลุดรอดออกมาจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้มาได้ แท้ที่จริงแล้วก็คือจำนวนของผู้ที่เข้ามารับบริการ

“จริงๆ แล้วช่องทางในการทำเงินของโรงพยาบาลมีมากนะ อย่างที่ชัดๆ ก็เช่น ไอพีดี (ผู้ป่วยใน) ที่เบิกจ่ายจากกองทุน สปสช. ดังนั้นโจทย์ที่ใหญ่กว่าคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนของเรา”

โดยธรรมชาติของประชาชนแล้ว เขาจะไม่ไว้วางใจและมองข้ามโรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาดเล็ก เมื่อเจ็บป่วยก็มักจะเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลขนาดใหญ่แทน ที่ผ่านมาโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยจึงมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่เพียง 60-70% เท่านั้น

“ศรัทธา” ... นพ.ประวัติ เชื่อว่า ความศรัทธาของประชาชนเท่านั้นที่จะช่วยต่อลมหายใจให้โรงพยาบาลได้

“เราตัดสินใจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทันที โดยต้องทำให้เขาเห็นว่าเราทำเร็ว และทำใหญ่ ทั้งภาพลักษณ์ ภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม ความสะดวกสบาย เจ้าหน้าที่กับพฤติกรรมการบริการ และที่จะทิ้งไม่ได้เลยคือเรื่องงานคุณภาพ”

ที่สุดแล้ว ความเอาจริงเอาจังและรูปธรรมที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งความศรัทธาที่กลับคืนสู่ความรู้สึกของประชาชน

นอกจากอัตราการครองเตียงของคนไข้จะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 150% แล้ว โรงพยาบาลยังมีผู้ป่วยจากนอกพื้นที่เดินทางเข้ามารับบริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องขยายเตียงเพิ่มจาก 30 เตียง เป็น 60 เตียงในปัจจุบัน

จากเดิมที่โรงพยาบาลเคลมเงิน “ไอพีดี” จากกองทุนบัตรทองได้ปีละ 6-7 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 16-17 ล้านบาท

ลำพังกองทุนผู้ป่วยในของ สปสช.เพียงกองเดียว ก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านบาท

“ยังมีอีกหลายส่วนที่สร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาล ผู้บริหารต้องลงมาศึกษาอย่างจริงจัง และวางระบบมอนิเตอร์ผลงานของโรงพยาบาลหลายๆ ช่องทาง กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน คือถ้าเรารู้ว่าเป้าในแต่ละวันของเราเป็นอย่างไร ถ้าเราทำได้ โอกาสที่จะเกิดวิกฤตสภาพคล่องก็แทบจะไม่มี”

ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ “ทัศนคติ” “วิสัยทัศน์” และ “โมเดล” การบริหารเงินของคุณหมอประวัติ ที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากผู้บริหารอีกหลายโรงพยาบาลที่มักมองว่า “บัตรทอง” คือต้นเหตุของการขาดสภาพคล่อง หรือเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน

“ผมคิดว่าเงินไม่ต่ำกว่า 70% ของโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยมาจากผู้ป่วยบัตรทอง” นักบริหารมือฉมังท่านนี้ ยืนยันว่า หากบริหารงบประมาณอย่างมีวินัย โอกาสที่ขาดทุนจากการให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง หรือขาดสภาพคล่องจากกองทุน สปสช.ค่อนข้างน้อยมากๆ

“ผมคิดว่ามันไม่น่าเกิดขึ้นได้เลย” นพ.ประวัติ หมายถึงโอกาสที่จะขาดทุนจากบัตรทองแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะสำหรับเขาแล้ว “บัตรทอง” ไม่ใช่อุปสรรคแต่คือโอกาส

“เข้ามาได้เลย ผู้ป่วยบัตรทองผมยินดีต้อนรับ ตัวเลขก็ชี้ให้เห็นแล้วว่ากำไร คือถ้าเราไม่มีคนไข้ยังไงก็ขาดทุน ยังไงก็เจ๊ง แต่ถ้ามีคนไข้เยอะมันไม่มีทางเจ๊ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารด้วยว่าเราจะทำเงินจากระบบได้อย่างไร”

“จริงๆ ก็เอาหมดแหละ ยูซี (บัตรทอง) ก็เอา คนไข้เบิกได้ก็เอา ถ้ามีคนไข้เยอะโรงพยาบาลอยู่ได้อยู่แล้ว” ผู้อำนวยการท่านนี้เน้นย้ำ

เมื่อโรงพยาบาลเปิดกว้างและเป็นมิตรกับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิรักษาฟรีอย่างบัตรทอง แน่นอนว่าในมุมหนึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงหน่วยบริการ แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือภาระงานที่เพิ่มสูงขึ้นของบุคลากรเดิม

เพื่อแก้ไขปัญหา workload จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของโรงพยาบาล จนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่สามารถเติมคนเข้ามาได้ทันท่วงที “นพ.ประวัติ” จึงจำเป็นต้องหาทางออกด้วยกำลังของโรงพยาบาลเอง

เขาเลือกที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างบุคลากรเพิ่มให้เพียงพอ โดยว่าจ้างพยาบาลจากโรงพยาบาลใกล้เคียงมาช่วยอยู่เวร ซึ่งขณะนี้มีบุคลากรภายนอก (outsource) เพิ่มขึ้นอีกราวๆ 30%

นอกจากนี้ ในเมื่อเป้าหมายปลายทางคือ “ผลิตภาพ” (Productivity) ระหว่างทางที่จะเดินไปถึงจึงจำเป็นต้องออกแบบให้เกิดบรรยากาศแห่งความสุขสำหรับคนทำงานด้วย

“ผมมองเรื่อง Happy organize ไปพร้อมๆ กัน คือคงไม่มีใครอยากทำงานหนักอยู่แล้ว เมื่องานเพิ่มขึ้น คือมันเยอะมากกว่าเดิมจริงๆ เราก็ต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของเรามีความสุขในการทำงาน สุดท้ายคือเราต้องทำให้เขารู้สึกว่าชนะ คือเขาทำไปแล้วมันได้ผลจริงๆ และมีคุณค่าจริงๆ

“ผมไม่เคยเน้นความประหยัดนะ ผมไม่เคยบอกลูกน้องว่าต้องประหยัด อะไรต้องใช้ก็ต้องใช้ โอพีดี (แผนกผู้ป่วยนอก) ติดแอร์ไปเลย เพราะทำให้ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่มีความสะดวกสบาย

“เป้าหมายสูงสุดของผมคือต้องการ Productivity ผมคิดว่าการประหยัดไม่ได้ทำให้เรารวย เพราะเราประหยัดกันมาเป็นสิบ ยี่สิบปี เราก็ยังเจ๊งอยู่วันยังค่ำ ฉะนั้นการหารายได้เก่งต่างหากที่จะทำให้เรารวย”

จากปีแรกที่หักลบกลบหนี้แล้วยังติดลบอยู่ 5 ล้านบาท ผ่านไป 1 ปี โรงพยาบาลมีเงินในกระเป๋า 18 ล้านบาท

“เราใช้หมดเลยทั้ง 18 ล้านบาท เอามาพัฒนาโรงพยาบาล เพราะเรารู้ว่าเราจะเคลมยังไง เราจะมีเงินเข้ามาเท่าไร เมื่อถึงเวลาก็จะมีเงินจาก สปสช.โอนเข้ามาตามรอบพอดี”

ทั้งหมดเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งจากภาพความสำเร็จ ที่โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยก่อรูปขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 18 เดือนเท่านั้น

“ผมคิดว่าโรงพยาบาลของผมดีว่าเอกชนอีกนะ ที่สำคัญคือคนไข้ส่วนใหญ่ของผมก็มารับรักษาฟรีด้วย”

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง