ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.นัดผู้เชี่ยวชาญถกประเด็นอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) วันที่ 23 ม.ค. นี้ ด้าน ผศ.นพ.พิสนธิ์ แนะเบื้องต้นถอนยาตัวนี้ออกจาก รพ.สต.ไปก่อน และหากเชื่อว่ายานี้มีผลต่อเส้นประสาทจริงก็ต้องแก้บัญชียาหลักแห่งชาติ บรรจุยา Ketorolac เป็นทางเลือกแก่ผู้ปฏิบัติงาน

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ม.ค. 2562 ที่จะถึงนี้ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อหารือเรื่องการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ Diclofenac injection หรือยาฉีดไดโคลฟีแนค หลังจากพบว่ามีผู้ป่วยเกิดความผิดปกติของเส้นประสาทหลังจากถูกฉีดยาตัวนี้เข้าไป

(ทั้งนี้ ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ช่วยในการบรรเทาอาการปวด บวมจากการอักเสบ ปวดตามข้อ ไขข้อกระดูก เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดท้องจากประจำเดือน โรคข้ออักเสบ อาการตึงขัดของข้อ)

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดในขณะนี้คือมีคนไข้จำนวนเยอะพอสมควรที่ทำเรื่องขอเงินเยียวยาไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนคณะกรรมการ สปสช.กังวลว่ามีเคสเข้ามาเรื่อยๆ จึงทำหนังสือออกไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ระมัดระวังยาตัวนี้ หรือกระทำการบางอย่างเพื่อลดปัญหาการฉีดยาตัวนี้ลง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ส่งจดหมายเวียนไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้ให้ระมัดระวังด้วย

"เขากังวลเรื่องการฉีดเข้าไปในสะโพก เพราะมีคนไข้บางคนเกิดความผิดปกติของเส้นประสาท เช่น ปวดขา ขาไม่มีกำลัง แต่ก็ยังไม่ได้สรุปยืนยันว่าเป็นผลจากตัวยา ก็เข้าใจว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคการฉีดยาเพราะยาทุกชนิดถ้าเทคนิคการฉีดไม่ดีก็มีโอกาสโดนเส้นประสาทได้เสมอ อีกด้านหนึ่งก็มีรายงานที่เชื่อว่ายาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) สามารถทำให้เกิดพิษที่เส้นประสาท ณ ตำแหน่งที่ฉีดได้แม้จะฉีดอย่างถูกต้องก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่าตัวยาไปส่งผลกับเส้นประสาท ดังนั้น วันที่ 23 ม.ค. 2562 นี้ ทาง อย. กำลังเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเพื่อหารือในเรื่องนี้" ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผศ.นพ.พิสนธิ์ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าสงสัยว่ามีการฉีดมากมายทุกวัน ทำไมคนที่มาร้องเรียน สปสช. มีแต่ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ทั้งนั้น ก็อนุมานได้ว่าเพราะตัวยามีผลหรือไม่ ดังนั้น การเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาคำตอบว่าเกี่ยวกับยาหรือไม่ยังไม่พอ ก่อนจะพิสูจน์ว่าเป็นเพราะยาใช่หรือไม่ ต้องมีมาตรการไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ด้วยว่าสิ่งใดที่ควรทำในขณะนี้ เพราะถ้ารอคำตอบอย่างเดียวก็จะมีคนร้องเรียนผ่าน สปสช.มาเรื่อยๆ

สำหรับแนวทางการออกมาตรการในระยะนี้ เช่น 1.สื่อสารประชาชนว่าไม่ควรขอให้หมอฉีดยา

2.ถอนยานี้ออกจากทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพราะหากฉีดไปแล้วเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา หากเป็นหมอยังพอรับสภาพได้ แต่ถ้าพยาบาลเป็นคนฉีด โดยกฎหมายแล้วพยาบาลไม่สามารถฉีดยาตัวนี้ให้คนไข้ได้โดยไม่มีคำสั่งแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติก็ทำกันอยู่ ดังนั้นถ้าจะปกป้องผู้ปฏิบัติงานไม่ให้ถูกฟ้องร้องและป้องกันความเสี่ยงแก่ประชาชนก็ควรเอายาออกจาก รพ.สต.ก่อน

3.ถ้าเชื่อว่ายาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) มีผลจริง ทางเลือกคือเปลี่ยนเป็นยาฉีดชนิดอื่น ซึ่งยาที่สามารถทดแทนได้คือยาคีโตโรแลค (Ketorolac) แต่ยาตัวนี้เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ การแก้ปัญหาก็ต้องแก้ไปถึงบัญชียาหลักแห่งชาติว่าเห็นด้วยกับการบรรจุยาคีโตโรแลค (Ketorolac) อยู่ในบัญชียาหลักหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกแก่แพทย์นอกเหนือจากไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นต้น

(ทั้งนี้ ยาคีโตโรแลค (Ketorolac) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) นำมาใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดหรือลดการอักเสบ ที่มีความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก และมักจะใช้ก่อนหรือหลังขั้นตอนการแพทย์หรือการผ่าตัด แต่ไม่ได้นำมาใช้รักษาสาเหตุของโรคยานี้ รวมทั้งไม่นำมาใช้รักษาโรคเรื้อรังหรือโรคที่มีอาการระยะยาว เช่น ข้ออักเสบ เป็นต้น)

"ในมุมประชาชน อยากสื่อสารว่าการเรียกร้องให้หมอฉีดยาให้เป็นเรื่องไม่จำเป็น บางคนมาหาหมอ วัตถุประสงค์คือมาฉีดยา เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดเมื่อย ปวดไหล่ ก็ขอฉีดยา แต่การฉีดยามีความเสี่ยงเสมอ คือ 1.อาจโดนเส้นประสาท 2.เสี่ยงต่อการติดเชื้อเสมอหากฉีดผิดวิธี และหากเป็นยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ก็อาจมีอันตรายจากตัวยาเองก็เป็นได้ที่ทำให้เกิดอาการ นอกจากเส้นประสาทมีปัญหา เดินลำบาก ปวดขา ขาไม่มีกำลังแล้ว ยังทำให้เกิดอาการแปลกๆ อีกหลายอาการ จนในที่สุดเกิดผลเสียร้ายแรง ดังนั้นไม่ควรขอหมอฉีดยาเลย การฉีดยาเป็นการตัดสินใจทางการแพทย์ หมอเป็นคนตัดสินใจให้ฉีด ไม่ใช่ประชาชนมาสั่งหมอว่าจะฉีดยา" ผศ.นพ.พิสนธิ์

อนึ่ง วันที่ 27 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของ อย. ได้ จดหมายข่าวเรื่อง การเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ Diclofenac injection โดยระบุว่า ในระยะเวลา 33 ปี (พ.ศ. 2529 – วันที่ 25 ธ.ค. 2561) พบรายงาน AEs สะสมทั้งหมดจำนวน 10,551 ราย เฉลี่ยปีละ 320 ราย เป็นรายงานใช้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 8,439 ราย (ร้อยละ 79.99) และใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 2,112 ราย (ร้อยละ 20.11)

ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบ AEs ช่วง 10 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2551 – 2560 กับปริมาณการนาเข้า/ผลิตยา diclofenac injection ในช่วงเวลาเดียวกัน พบอัตราการรายงาน AEs เฉลี่ย 7 รายต่อปริมาณการนาเข้า/ผลิต diclofenac injection 100,000 ampules และเมื่อพิจารณาแยกรายปีไม่พบแนวโน้มการรายงานที่สูงขึ้น รวมทั้งการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก เช่น numbness, peripheral nerve injury และ injection site pain ก็ไม่พบแนวโน้มการรายงานที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากเทคนิคการฉีดเป็นหนึ่งในปัจจัยของการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก จึงขอแนะนาบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้ยา diclofenac injection เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อเสียหาย คือควรฉีดลึกๆ เข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกส่วนนอกด้านบน โดยขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการทบทวนข้อมูลความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

อย.ทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค หลังมีรายงานอาการผิดปกติของเส้นประสาท

'สภาการพยาบาล' ออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ‘ไดโคลฟีแนค’