ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 8-9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้จัดเวทีสื่อสารนโยบายเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อส่งเสริมสุขภาพสังคมสูงวัยด้านเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญคือการผลักดันข้อเสนอการเปลี่ยนระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญแห่งชาติ ผู้สูงอายุทุกคนได้เงินบำนาญอย่างเสมอหน้าในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือเดือนละ 3,000 บาท พร้อมเปิดเวทีเชิญตัวแทนพรรคการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ได้นำเสนอมุมมองต่อรัฐสวัสดิการ ภายใต้หัวข้อ "เลือกตั้งครั้งนี้...รัฐสวัสดิการต้องมา"

ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์

"ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์" ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าสวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชนจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีรากเหง้าจากพรรคไทยรักไทยซึ่งเคยจัดรัฐสวัสดิการมาแล้ว ทั้งกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ฯลฯ ขณะเดียวกัน การจะหาเงินมาสนับสนุนการจัดสวัสดิการได้ ต้องได้รัฐบาลที่มีฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่ประสำความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาได้ ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก ฯลฯ รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมอาชีพ สนับสนุนทำให้ประชาชนเกิดรายได้ เมื่อประชาชนมีรายได้มากขึ้นรัฐก็จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น สามารถนำเงินมาใช้จัดสวัสดิการได้

"ถ้ารัฐบาลมีฝีมือ แทบไม่ต้องขูดรีดภาษีจากประชาชน อย่างเรื่องการประมงที่ถูกแรงบีบจนต้องออกกฎหมายหลายฉบับทำให้ภาคประมงของไทยเสียโอกาส เงินตรงนี้ก็หลายแสนล้านบาท สามารถดึงมาจัดสวัสดิการได้ หรือการจัดสรรงบประมาณโดยดูความจำเป็นของแต่ละกระทรวง อะไรไม่จำเป็นก็ปรับลด ยืนยันอีกครั้งว่าเราหาเงินเป็น" ลดาวัลย์ กล่าว

ลดาวัลย์ กล่าวต่อไปว่า ในการจัดสวัสดิการแก่ประชาชนนั้น ถ้ามีกฎหมายรองรับจะเกิดความมั่นคง เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนชุมชน มีกฎหมายรองรับผูกมัดทุกหน่วยงาน แม้จะมีการปฏิวัติ มีความพยายามยึดกองทุน แต่บังเอิญว่ามีกฎหมายรองรับ ถ้าจะล้มก็ต้องไปต้องไปแก้ในสภา เลยไม่กล้าแตะ เพราะฉะนั้นถ้าร่วมกันร่างกฎหมายขึ้นมาว่าจะมีบำนาญถ้วนหน้าให้ประชาชนคนไทย ก็ควรเป็นกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคง ใครจะมาล้มกฎหมายนี้ก็ต้องใช้เสียงข้างมากตามระบบประชาธิปไตย

"พรรคเพื่อไทยเราก็มีร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน ซึ่งผลตอบแทนที่ประชาชนจะได้รับนั้น อย่างต่ำคือ 3,000 บาท/เดือน เป็นการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเพราะถือว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการรับสวัสดิการในส่วนนี้ก็สามารถบริจาคคืนเข้ากองทุนได้ นอกจากนี้เมื่อเครือข่ายภาคประชาชนได้จัดทำร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติเตรียมไว้แล้ว ทางพรรคจะรอฉบับของภาคประชาชนด้วยว่าสอดคล้องกันหรือไม่ และสิ่งที่มั่นใจคือพรรคเพื่อไทยมีศักยภาพในการบริหารประเทศแบบมืออาชีพในการสร้างงานสร้างรายได้แก่คนไทยทุกกลุ่มและนำภาษีกลับมาจัดสวัสดิการแก่ประชาชน" ลดาวัลย์ กล่าว

ตัวแทนพรรคเพื่อไทยย้ำว่า พรรคเพื่อไทยเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าและทำให้เป็นรูปธรรมมาแล้วหลายนโยบาย รวมทั้งมีแนวทางที่ชัดเจนถึงขั้นร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชนไว้แล้ว อย่างไรก็ดี การจะทำให้เกิดผลขึ้นมาได้ พรรคต้องผ่านด่านสมาชิกวุฒิสภา 250 คนก่อน ดังนั้นถ้าอยากแก้จนร่วมกับพรรคเพื่อไทยต้องช่วยให้พรรคได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) 251 คนขึ้นไป

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

ด้าน "อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มองแค่ผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่มองการจัดสวัสดิการในหลายๆ กลุ่ม แนวคิดขั้นแรกคือขีดเส้น Universal Basic Income หรือรายได้ที่ไม่ควรต่ำกว่านี้ก่อน ประมาณ 120,000 บาท/ปี หรือเดือนละ 10,000 บาท หรือวันละ 400 บาท โดยในส่วนของกลุ่มแรงงานจะไม่ใช้วิธีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถ้ามีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ รัฐจะใส่ส่วนต่างของรายได้ให้ หรือในส่วนของภาคเกษตรก็เป็นการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร เช่น ประกันราคาข้าวไว้ 10,000 บาท ถ้าราคาตลาดอยู่ที่ 8,000 บาท รัฐจะโอนส่วนต่าง 2,000 บาทตรงเข้าบัญชีเลยเป็นต้น

ในส่วนของผู้สูงอายุ พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 1,000 บาท รวมทั้งมีเบี้ยผู้ยากไร้ โดยโอนตรงเข้าบัญชีเดือนละ 800 บาท เบี้ยผู้ยากไร้นี้ต่างจากของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่โอนเครดิตไปที่บัตรคนจนแล้วให้ซื้อของในร้านธงฟ้า แต่ของประชาธิปัตย์จะโอนตรงเข้าบัญชีเหมือนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้ประชาชนยื่นแบบภาษีเงินได้ส่วนบุคคล หากรายใดมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็จะได้เบี้ยผู้ยากไร้กลับไป แต่ถ้าเกิดได้งานทำ มีรายได้เกินเกณฑ์ก็จะถูกตัดออกไป

สำหรับที่มาของเงินที่นำมาใช้จัดสวัสดิการนั้น มีหลายๆแนวทางที่น่าสนใจ เช่น การลดการให้สิทธิพิเศษทางภาษีของ BOI ลง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่งดงามด้วยตัวเอง การที่ต่างนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ไม่ได้เข้ามาเพราะมี BOI แต่เข้ามาเพราะไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ

นอกจากนี้ การเก็บภาษีจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นเรื่องน่าสนใจมาก เท่าที่คุยกับนักลงทุนบางส่วนก็ได้เสียงสะท้อนว่าไม่เกี่ยงที่จะจ่ายเพราะการเทรดหุ้นผ่านมือถือมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าซื้อขายผ่านโบรกเกอร์อยู่แล้ว ส่วนต่างตรงนี้มีมูลค่าหลายหมื่นล้าน ดังนั้น ถ้าออกแบบดีๆก็น่าจะเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้จาก Capital gain ดีกว่ามานั่งขูดรีดขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

"ยังมีบริษัทออนไลน์ต่างชาติ เช่น เฟสบุ๊ก กูเกิ้ล ฯลฯ ที่บริษัทคนไทยเทงบโฆษณาผ่านบริษัทเหล่านี้หลายหมื่นล้านแต่เขาไม่เสียภาษีเลย ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนควรผลักดันอาเซียนให้เก็บภาษีบริษัทเหล่านี้เหมือนยุโรป" อรรถวิชช์ กล่าว

ในส่วนของระบบบำนาญนั้น พรรคประชาธิปัตย์มองว่าเป้าหมายของทุกคนคือเหมือนกันคือมีบำนาญถ้วนหน้า ซึ่งบำนาญระยะยาวในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ชุดคือ 1.กลุ่มอยู่กับนายจ้าง ถ้าเป็นราชการก็อยู่กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถ้าเป็นเอกชนก็อยู่กับประกันสังคม ซึ่งในส่วนนี้ พรรคมีชุดความคิดที่สนใจคือการบังคับสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถ้าได้เป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะทำเรื่องนี้แน่นอนเนื่องจากเป็นการยกระดับเงินสำรองเลี้ยงชีพแบบบังคับ

ในส่วนของกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบ ปัจจุบันมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แต่น่าเสียดายที่กองทุนนี้ง่อยเปลี้ยเสียขา ทั้งๆ ที่ถ้าอัดฉีดเงินลงไปอีกรัฐสวัสดิการก็ได้เพิ่ม บำนาญก็ได้เพิ่ม ประเด็นนี้ก็มีการหารือกันในพรรคว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลก็จะยกระดับแน่นอน และเชื่อว่าถ้า กอช.ยกระดับขึ้น มีการบังคับให้จ่ายเงินสำรองเลี้ยงชีพ เชื่อว่าเงินบำนาญของประชาชนจะมากกว่า 3,000 บาทแน่นอน

"นโยบายของประชาธิปัตย์ยืนยันว่าต่อไปนี้จะไม่มีคนมีรายได้ต่ำกว่าเส้น 120,000 บาท/ปี สำหรับแรงงานในระบบ ถ้าใครได้ต่ำกว่าจะมีการอัดฉีด ส่วนกรณีผู้สูงอายุ เพิ่มเป็น 1,000 บาท เบี้ยเลี้ยง อสม. เพิ่มเป็น 1,200 บาท เราคำนวนหมดแล้วว่าเงินจะมาจากไหนบ้างไม่ได้พูดส่งเดช" อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา

ขณะที่ "ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา" ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ชาติไทยพัฒนามีนโยบายปฏิรูปสังคมซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการจัดรัฐสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษา ให้เข้าถึงแหล่งงานและสวัสดิการสาธารณะอย่างเป็นธรรม สามารถพัฒนาตนเองและดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างภาคภูมิ

"สวัสดิการที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับการออม มีตัวเลขว่าคนไทยมีการออมแค่ 7% ขณะที่ตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาคือ 19.7% และถ้าดูประเทศที่พัฒนาแล้วมีการออมสูงถึง 50.7% ของ GDP ดังนั้นพรรคชาติไทยพัฒนาสนับสนุนเรื่องการออมเพื่อนำมาจัดสวัสดิการแก่ประชาชนได้" ดร.อุดมศักดิ์ กล่าว

สำหรับที่มาของเงินสำหรับจัดสวัสดิการ ดร.อุดมศักดิ์ กล่าวว่านอกจากปฏิรูประบบงบประมาณให้มีประสิทธิภาพแล้ว พรรคยังมองถึงการปรับระบบภาษีด้วยด้วย ไทยมีประชากร 67 ล้านคน แต่มีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแค่ 4 ล้านคน ทำอย่างไรจะขยายฐานภาษีนี้เพื่อนำมาจัดสวัสดิการทั้งด้านการประกันรายได้ การศึกษา และสาธารณสุข หรือภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งก็สร้างก็ช่วยเพิ่มรายได้ได้ รวมทั้งการปราบคอรัปชั่นซึ่งมีการประเมินตัวเลขว่ามีการคอรัปชั่นถึง 1 แสนล้านบาท ก็จะช่วยนำเงินมาจัดสวัสดิการได้

ดร.อุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เห็นด้วยกับการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับเงินบำนาญหลายตัวมาก ทำอย่างไรจึงจะบูรณาการฐานข้อมูลที่ถูกต้องแบบเดียวกันเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่วนตัวเลข 3,000 บาท/เดือน ต้องคำนึงถึงงบประมาณและหนี้สาธารณะด้วย ถ้าสามารถพัฒนาทักษะการเพิ่มผลิตภาพที่ทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้นก็จะมาสามารถนำเงินมาสนับสนุนส่วนนี้ได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (กลาง) 

"พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" ตัวแทนพรรคประชาชาติ ให้ความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐสวัสดิการต้องเป็นสิทธิเสมอหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่ถ้าดูจากรัฐธรรมนูญ จะพบว่าเขียนโดยคนที่เกลียดชังประชาธิปไตย เฉพาะมาตรา 48 บอกว่าคนที่อายุ 60 ปีและไม่มีรายได้เพียงพอ รัฐธรรมนูญให้รัฐช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่สวัสดิการ

"แค่เริ่มต้นรัฐธรรมนูญก็เป็นการสงเคราะห์แล้ว พรรคเราจะแก้รัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์ต่างๆให้เป็นประชาธิปไตย การจะแก้ปัญหาความยากจนต้องมีระบบประชาธิปไตย วันนี้ถ้าไม่คืนอำนาจให้ประชาชน งบประมาณประเทศก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำ" พ.ต.อ. ทวี กล่าว

พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า พรรคมีนโยบายชัดเจนว่าส่งเสริมระบบบำนาญและสวัสดิการถ้วนหน้า ส่วนตัวเลข 3,000 บาท/เดือนที่ภาคประชาชนเสนอก็เห็นด้วย แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ต้องแก้ไขระบบการเงินการคลัง โดยต้องมีสถาบันอิสระเพื่อปฏิรูประบบงบประมาณ

"ถ้าดูมาเลเซียมีงบประมาณรายจ่ายของประเทศในปีต่อไป 2 แสนล้านบาท ขณะที่ไทยอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท กว่า 70% เป็นรายจ่ายประจำ เป็นเงินเดือนข้าราชการกว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ไป 3 แสนล้าน ดังนั้น นโยบายสำคัญคือต้องปฏิรูประบบการจัดเก็บงบประมาณให้สมดุลและจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราไม่เชื่อในการจัดงบประมาณของรัฐ เราควรมีสถาบันอิสระที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน อย่างน้อยขึ้นกับรัฐสภา ไม่ใช่จัดสรรแบบฟังชั่นแต่ต้องส่งไปให้ในพื้นที่ และเราเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องหาระบบอื่นมาเพิ่มงบประมาณสำหรับจัดสวัสดิการ เฉพาะงบประมาณที่มีอยู่เดิม เฉพาะองค์การมหาชนกับกองทุนต่างๆ มีเงินหลายแสนล้าน ไม่เคยมีการตรวจสอบ ดังนั้น ต้องปฏิรูประบบงบประมาณให้ตัวแทนภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรร ดังนั้นถ้าเราได้ สส.ประมาณ 20 คน เราจะเสนอกฎหมายนี้" พ.ต.อ. ทวี กล่าว

ศิริกัญญา ตันสกุล

"ศิริกัญญา ตันสกุล" ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคก็เชื่อว่ารัฐสวัสดิการจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ สำหรับคนที่ต้องดูแลทั้งลูกและผู้สูงอายุ ถ้ามีสวัสดิการที่เป็นสิทธิ ไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน ก็จะสร้างหลักประกันทางรายได้ สามารถวางแผนระยะยาวในชีวิตได้ และพรรคเองก็ได้จัดทำข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์ที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร เบื้องต้นคือดูส่วนที่ทำได้เลย เช่น บำนาญถ้วนหน้า ถ้าทำได้เลยจะสามารถให้ได้ที่ประมาณ 1,800 บาท/เดือน รวมทั้งเรื่องการลาคลอด เงินเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการแรงงานนอกระบบและการเพิ่มงบบัตรทอง จะเป็นแพ็คเก็จแรกที่เรานำเสนอหากได้เข้าไปอยู่ในสภาหรือร่วมรัฐบาล

เช่นเดียวกับแหล่งรายได้ก็มีแผนปฏิรูปงบประมาณเรียบร้อยแล้วว่าจะตัดตรงไหนได้บ้าง เช่น เพิ่มสวัสดิการเงินเดือนทหารชั้นผู้น้อย ลดจำนวนนายพล ก็ประหยัดเงินกลับมาประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือทยอยลด BOI ก็จะมีรายได้เพิ่มปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท การเกลี่ยงบกลางก็ลดการใช้จ่ายงบประมาณได้ 40,000 ล้านบาท หรือแม้แต่การลดงบประจำ ถ้าลดแค่ 3% ก็จะประหยัดได้อีก 60,000 ล้านบาท รวมถึงการทบทวนมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล เป็นต้น

"มันจัดสรรงบประมาณใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญกับเรื่องไหน" ศิริกัญญา กล่าว

ในส่วนของร่างกฎหมายเกี่ยวกับบำนาญถ้วนหน้า พรรคอนาคตใหม่ก็ได้เตรียมร่าง พ.ร.บ.ไว้เหมือนกัน โดยใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.ไทยเท่าเทียม เพื่อยืนยันสิทธิทางกฎหมายที่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของทุกคน อย่างไรก็ดีถ้าเครือข่ายภาคเอกชนมีร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติอยู่แล้ว ก็อาจร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายด้วยกันก็ได้ โดยคำนึงถึงเส้นความยากจนเป็นพื้นฐาน

"เรามีกฎหมายเกี่ยวกับบำนาญเยอะมาก ทั้ง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม แต่ไม่มี พ.ร.บ.ไหนที่ยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของบำนาญถ้วนหน้า เพราะฉะนั้นต้องมีกฎหมายเพื่อยืนยันสิทธิอีกครั้ง รวมทั้งมีคณะกรรมการนโยบายที่จะควบคุมกำกับว่าทุกคนต้องมีบำนาญพื้นฐานและภาคสมทบ" ศิริกัญญา กล่าว

สมบัติ บุญงามอนงค์

ด้าน "สมบัติ บุญงามอนงค์" ตัวแทนพรรคเกียน ให้ความเห็นว่า ความยากจนในความหมายของตน นึกถึงคำว่าจนตรอก คือถ้าไปต่อไม่ได้ก็คือจนตรอก ความจนตรอกพัฒนามาจากความยากก่อน ชีวิตที่ยากและไม่สามารถผ่านขั้นตอนนี้ได้ถึงไปสู่ความจนตรอก คำถามคือทำไมยาก ก็มี 2 ปัจจัยคือ 1.มีอุปสรรค ถ้าดูคนจนจะพบว่าทำงานหนักกว่าคนรวยแต่ก็ยังยาก แสดงว่ามีอุปสรรคอยู่ ต้องค้นหาว่าอุปสรรคคืออะไรแล้วเอาออกไปหรือทำให้เบาบางลง 2.ต้องให้โอกาส คนจะพัฒนาตัวเองได้ต้องมีโอกาส เบื้องต้นคือโอกาสที่จะมีชีวิตรอด คืออาหาร ที่อยู่อาศัย ต่อมาคือโอกาสในการพัฒนาคือการศึกษา การงาน

"บำนาญถ้วนหน้าก็เป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถใช้กินข้าวได้ เหลือจ่ายค่าไฟนิดหน่อยแค่นั้น แต่การจะเปลี่ยนความยากจนมันต้องผ่านกระบวนการสะสมทุน ถ้าไม่สะสมทุนก็ไม่สามารถเปลี่ยนจากคนจนเป็นคนชั้นกลางได้" สมบัติ กล่าว

สมบัติ กล่าวอีกว่า การสร้างความมั่นคงของรัฐสวัสดิการ ต้องเอาไปปักไว้ในรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นก็ต้องดูยุทธศาสตร์และตัวบทกฎหมาย แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดได้จริงคือการบริหารจัดการ ซึ่งมี 2 อย่างคือ 1.ภายใต้งบประมาณจำกัด จะจัดสรรงบตรงไหนมาเติมและไม่ทำให้กลไกอื่นเสียหาย ต้องดูภาพรวมตรงนี้ก่อน 2.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของคนในสังคมไทย เป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตก เราต้องสร้างวัฒนธรรมในสังคมไทยที่ส่งเสริมการผลิต เช่น ถ้าคิดออกว่าจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐตรงไหนได้บ้าง

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

ขณะที่ "เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์" ตัวแทนพรรคสามัญชน เห็นด้วยกับการมีระบบบำนาญแห่งชาติ แต่ชวนให้คิดต่อว่ามากกว่า 3,000 บาท/เดือนได้หรือไม่ เช่นอาจเป็น 4,000-5,000 บาท

"สมัยพรรคเพื่อไทยที่มีโครงการจำนำข้าว ถ้าคิดว่าการจำนำข้าวมีประโยชน์ต่อคนมหาศาลใช้เงินแค่ 2-3 แสนล้านบาท ถ้าคิดในแง่เดียวกัน โครงการส่งเสริมการลงทุนของ BOI เราเคยดูบ้างไหมว่าการลดหย่อนภาษีให้นักลงทุนเราสูญเสียไปเท่าไหร่ เป็นเงินนับล้านล้านบาท" เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีการคำนวนว่าถ้าจะต้องทำระบบบำนาญถ้วนหน้าได้ ต้องใช้งบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เราสามารถเอางบประมาณส่วนต่างๆ มาใช้ได้ เช่น ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีของ BIO อย่างน้อยได้ 2.4 แสนล้าน และปรับงบประมาณกลาโหมก็ได้เงินกลับมาอีก 2-3 แสนล้านบาท

"มันทำได้หมด แต่ต้องจัดการทรัพยากรใหม่" เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า เห็นด้วยว่าเรื่องบำนาญถ้วนหน้าไม่สมควรหยุดแค่ พ.ร.บ. แต่ต้องปักไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความมั่นคงถาวรและเป็นสิทธิโดยพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ไม่มีเรื่องรัฐสวัดิการ ดังนั้นถ้าพรรคไหนได้เป็นรัฐบาลอยากฝากให้ล้มยุทธศาสตร์ชาติก่อนเพื่อให้เป้าหมายรัฐสวัสดิการเดินหน้าไปได้ ไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ

ขอบคุณภาพจาก facebook บำนาญแห่งชาติ