ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลอุทัยธานี คลายความทุกข์ชาวบ้านเดินทางไกล-รอคิวนาน ประสานความร่วมมือไปรษณีย์ไทยทำโครงการ “ส่งยาถึงบ้าน” ช่วยคนไข้โรคเรื้อรังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย-เวลา มารับยาที่โรงพยาบาลเป็นประจำ สถิติของอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยาซึ่งคิดจากใบสั่งยา 1,000 ใบ พบว่าเป็น 0

นพ.สุรชัย โชคครรชิตไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยธานี บอกเล่าประสบการณ์การส่งยาทางไปรษณีย์ถึงผู้ป่วย ภายในงานประชุมสัมมนาเรื่อง “ถอดบทเรียนการส่งยาทางไปรษณีย์จากโรงพยาบาลรัฐถึงผู้ป่วยกับมาตรฐานวิชาชีพ” จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า ภายหลังพบว่าจำนวนของผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี มีผู้ป่วยบางส่วนต้องรอคอยพบแพทย์และรอรับยาค่อนข้างนาน ประกอบกับมีผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งต้องเดินทางมาจากพื้นที่ห่างไกลเพื่อเข้ารับบริการ ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย และความแออัดในการจัดการจราจรในโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลอุทัยธานีจึงได้ดำเนินการ “โครงการส่งยาถึงบ้าน” ขึ้น

“บางอำเภออยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลถึง 80 กิโลเมตร ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ต้องเดินทางมารับยาเป็นประจำ หรือเป็นผู้ป่วยที่ติดบ้านติดเตียงก็จะมีความยากลำบากมาก บางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงรอบละ 800-1,000 บาท ดังนั้นโรงพยาบาลอุทัยธานีจึงได้ทำโครงการส่งยาถึงบ้านขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือลดระยะเวลารอคอยในการรอรับยาในโรงพยาบาล ลดระยะเวลาการมารับบริการภาพรวมในโรงพยาบาล เพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มารับบริการ และในกรณีเติมยานั้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย และลดความแออัดของโรงพยาบาล” นพ.สุรชัย กล่าว

นพ.สุรชัย กล่าวต่อไปว่า แนวคิดสำคัญของโครงการส่งยาถึงบ้านคือการให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยต้องมีอาการคงที่ ไม่มีการปรับเปลี่ยนยา เพราะหากยังต้องปรับเปลี่ยนยาก็จำเป็นต้องมาพบแพทย์จึงไม่สามารถเข้าสู่โครงการได้ ซึ่งจากการเปิดโครงการเมื่อปี 2561

สำหรับโครงการส่งยาถึงบ้านนั้น ผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกสิทธิสามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ รวมไปถึงผู้ป่วยที่ชำระเงินเอง โดยการดำเนินการเฉลี่ยในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยใช้บริการ 20-30 คน คิดเป็น 5% ของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอกทั้งหมด

“แต่ทั้งหมดนั้นต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่โครงการด้วย โดยขั้นตอนในการตรวจจะรวดเร็วมาก คือผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะต้องแจ้งพยาบาลหน้าห้องตรวจและนำใบสั่งยามาติดต่อที่เภสัชกร จากนั้นเภสัชกรจะคิดราคายาและแนะนำการใช้ยา ผู้ป่วยชำระเงินและกลับบ้านได้เลย ส่วนยาจะจัดส่งให้ผู้ป่วยได้รับภายใน 1-3 วัน” นพ.สุรชัย กล่าว

นพ.สุรชัย กล่าวอีกว่า ก่อนผู้ป่วยกลับบ้านจะได้รับคำแนะนำตัวอย่างยาพร้อมวิธีการใช้ยา และหลังผู้ป่วยกลับบ้านแล้วก็ยังสามารถใช้ช่องทาง call center เพื่อติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับยาเพิ่มเติมได้ และเรามีระบบการติดตามผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาภายใน 3 วันด้วย

สำหรับกรณีของผู้ป่วยเติมยานั้น จะมีระบบติดตามผู้ป่วยโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาบาล ซึ่งจะมีทีมงานเวชกรรมสังคมเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้โรงพยาบาลจะประสานคลินิกหมอครอบครัวในการตรวจผู้ป่วยก่อนถึงรอบจัดส่งยา และพยาบาลประจำคลินิกหมอครอบครัว หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จะเป็นผู้ติดตามอาการผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็มีระบบ call center เช่นเดียวกัน โดยการส่งยาก็จะส่งผ่านทางไปรษณีย์ไทย

“สำหรับผลการดำเนินการอัตราผู้เข้ารับบริการในปีงบประมาณ 2561 พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นตลอด 4 ไตรมาส และอัตราการรับยาภายใน 3 วัน ก็สูงขึ้นทุกไตรมาส โดยไตรมาสที่ 3 สูงถึง 98.56% ส่วนอีก 1% เป็นผู้ป่วยที่บ้านอยู่ห่างไกล” นพ.สุรชัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่าสถิติของอุบัติการณ์ความคลาดเคลื่อนทางยาซึ่งคิดจากใบสั่งยา 1,000 ใบ พบว่าเป็น 0 กล่าวคือไม่มีการจ่ายยาผิดหรือไม่ครบตามจำนวนแต่อย่างใด และเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการรอยาระหว่างกลุ่มคนไข้ทั่วไปกับกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมโครงการ จะพบว่าคนไข้ทั่วไปจะต้องรอยาประมาณ 60-80 นาที ขณะที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถกลับบ้านได้เลยภายใน 6-10 นาที

“เราได้พูดคุยและเน้นย้ำกับผู้บริหารของไปรษณีย์ไทยสาขาอุทัยธานีว่า กรณีถ้ามีกล่องพัสดุที่มีสติกเกอร์โครงการส่งยาถึงบ้าน ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยระมัดระวัง ป้องกันการบุบสลาย ไม่ให้อยู่ในที่ร้อน ซึ่งเราก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี กล่องยาที่ถึงมือผู้ป่วยไม่เสียหายใดๆ” นพ.สุรชัย กล่าว

ขอบคุณภาพจาก facebook นพ.อิทธพร คณะเจริญ กรรมการแพทยสภา