ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘รพ.ศิริราช’ จัดโครงการ ‘ส่งยาถึงบ้าน’ ตั้งแต่ปี 2557 ช่วยผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาโรงพยาบาล ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดความแออัด เดิมคนไข้ต้องรอคอยยา 45-60 นาที ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 6 นาที เท่านั้น

รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ

รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช บอกเล่าประสบการณ์การส่งยาทางไปรษณีย์ถึงผู้ป่วย ภายในงานประชุมสัมมนาเรื่อง “ถอดบทเรียนการส่งยาทางไปรษณีย์จากโรงพยาบาลรัฐถึงผู้ป่วยกับมาตรฐานวิชาชีพ” จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า ในปี 2560 โรงพยาบาลศิริราชให้บริการผู้ป่วยนอก (OPD) ประมาณ 6.5 แสนราย คิดเป็น 3.88 ล้านครั้งบริการ และมีใบสั่งยาเฉลี่ยปีละ 1.6 ล้านใบ หรือราวๆ วันละ 5,000 ใบ

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า ปัญหาที่พบในโรงพยาบาลศิริราชก็คือผู้ป่วยใช้เวลานานในการรอรับยา โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ประกอบกับอัตราบุคลากรที่ไม่สอดคล้องกับการให้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วน และมีกรณีผู้ป่วยที่ได้รับใบสั่งยาเพื่อเติมยา (Refill Medication) ไม่สะดวกเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาล

“จากข้อมูลทำให้ทีมของโรงพยาบาลต้องมาประชุมกัน ซึ่งพบว่าช่วง 10.00-13.00 น. เป็นช่วงพีคที่มีคนไข้มารอรับยามากที่สุด และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ทราบว่าช่วงคอขวดที่คนไข้มารอคือขั้นตอนการจัดยา กล่าวคือมีอัตราใบสั่งยาเข้ามาที่ 30 วินาทีต่อใบ แต่ใช้เวลาจัดยาในอัตรา 44 วินาทีต่อใบ นั่นทำให้ผู้ป่วยต้องรอยานานประมาณรายละ 45-60 นาที” รศ.นพ.เชิดชัย กล่าว

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวต่อไปว่า วิธีการแก้ปัญหาคือต้องลดระยะเวลาในการจัดยา คำถามคือแล้วจะลดอย่างไร ซึ่งแนวทางหนึ่งก็คือการส่งยาทางไปรษณีย์ ซึ่งไม่ต้องเร่งรีบและทำให้เภสัชกรสามารถไปจัดยานอกเวลาเร่งด่วนได้

“เวลาของการจัดยาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการเดินหายา ยกตัวอย่างคนไข้ 1 ราย ต้องรับยา 8 รายการ เภสัชกรก็จะต้องเดินหายาไปมา นั่นทำให้เรากลับมาปรับระบบใหม่คือคนจัดยาไม่ต้องเดิน แต่จะวางตำแหน่งบุคคลไว้แต่ละจุดในห้องยา แล้วให้ส่งต่อตระกร้าไปเป็นจุดๆ นั่นทำให้ระยะเวลาการจัดยาลดลงมาก โดยห้องยาทั้งหมด 10 ห้อง มี 7 ห้องที่คนไข้รอไม่เกิน 35 นาที คำถามคือเราจะปรับปรุงอีก 3 ห้องยานี้อย่างไร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการส่งยาทางไปรษณีย์” รศ.นพ.เชิดชัย กล่าว

ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้เริ่มโครงการส่งยาทางไปรษณีย์ตั้งแต่ปี 2557 โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า 1. ระยะเวลาการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องไม่เกิน 15 นาที คือภายใน 15 นาทีคนไข้ต้องออกจากโรงพยาบาลให้ได้ 2. ผู้ป่วยต้องได้รับยาภายใน 1-3 วัน และ 3. ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาที่ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจากเป้าหมายนี้นำมาสู่การออกแบบระบบเพื่อให้บริการ

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวถึงการออกแบบระบบว่า เริ่มต้นจากการสอบถามผู้ป่วยก่อนว่าสนใจเข้าร่วมระบบการส่งยาทางไปรษณีย์หรือไม่ โดยพบว่ามีผู้สนใจร่วมโครงการถึง 35% นั่นหมายความว่าถ้าลดภาระใน 35% นี้ได้ ก็จะเหลือเวลาไปดูแลผู้ป่วยที่รอรับยารายอื่นๆ ได้ ส่งผลให้โรงพยาบาลศิริราชดำเนินการต่อ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ

ประกอบด้วย 1. ขั้นตอนที่ผู้ป่วยมาติดต่อรับยา ซึ่งทำเป็น one stop service ตั้งแต่เข้ามาติดต่อขอรับยา อธิบายการใช้ยาด้วยภาพและลักษณะยาอย่างละเอียด ไปจนชำระค่าใช้จ่าย 2. การเตรียมยาเพื่อจัดส่ง ซึ่งนอกจากความถูกต้องครบถ้วนแล้ว ยังได้มีการทดลองวัดอุณหภูมิในการจัดส่งยาไปทั่วประเทศ และได้ประสานกับไปรษณีย์เพื่อทำระบบดูแลยา เช่น เมื่อพบพัสดุที่มีสัญลักษณ์ว่าเป็นยา ก็จะคลุมเพื่อป้องกันแดดและฝนขณะส่ง หรือจัดเก็บให้ปลอดภัยมากที่สุด

“กล่องทุกกล่องจะถูกประทับตราว่าเป็นยา บุรุษไปรษณีย์ก็จะให้การดูแลเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันเรามีระบบติดตามด้วย QR-CODE ร่วมกับไปรษณีย์ว่าคนไข้ได้รับยาหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับยาจะมีการโทรศัพท์ไปถึงเฉพาะราย” รศ.นพ.เชิดชัย กล่าว

สำหรับค่าบริการ โรงพยาบาลศิริราชคิดที่ 150 บาทราคาเดียวทั่วประเทศ โดยจัดส่งด้วยระบบ EMS โดยผู้ป่วยที่จะเข้าร่วมโครงการได้นั้นจะต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินจากเภสัชกรว่าเป็นผู้ป่วยที่สามารถใช้ยาได้ถูกต้องและปลอดภัย กลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ได้รับยาเตรียมรับประทานขนาดน้อยเฉพาะราย กลุ่มผู้ป่วยในที่ได้รับใบสั่งซื้อยาต่อเนื่องหลังจากออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ได้รับใบ refill และที่สำคัญคือต้องลงนามยินยอมที่จะเข้าร่วมโครงการด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลผลการดำเนินการเฉพาะผู้ป่วย refill ยา ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. 2558 พบว่ามีค่าใช้จ่ายลดลง ทั้งค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ค่าเสียโอกาสในการทำงาน ค่าอาหาร รวมแล้วประมาณครั้งละ 352.55 บาท ขณะที่ระยะเวลาในการรอรับยาในปี 2560 อยู่ที่เพียง 6 นาที จากเป้าหมายคือไม่เกิน 15 นาที