ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-สพฐ. หนุนนโยบายเด็กท้องต้องได้เรียน หวั่นแม่วัยรุ่นเกือบแสนคนพลาดโอกาสทางการศึกษาด้านผลการศึกษาใน ตปท. ชี้ หากเด็กในห้องพบเห็นเพื่อนท้อง จะเกิดการตื่นตัวดูแลป้องกันตัวเองมากขึ้น

วันที่ 28 มกราคม 2562 ที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ในการอภิปรายห้องย่อย หัวข้อ “เด็กท้อง ต้องได้เรียน” ภายในการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 จัดโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงาน องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่กระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงให้สถานศึกษาทุกระดับที่มีเด็กตั้งครรภ์ ต้องไม่ให้เด็กออกจากสถานศึกษา โดยต้องจัดระบบดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมและต่อเนื่อง แต่ยังคงมีบุคลากรทางการศึกษารวมถึงผู้ปกครองอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่า การให้เด็กตั้งครรภ์เรียนร่วมกับเด็กทั่วไป เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แต่ผลการศึกษาในต่างประเทศพิสูจน์แล้วว่า เด็กคนอื่นๆ จะเกิดความตื่นตัวมากขึ้นในการดูแลป้องกันตนเองไม่ให้ตั้งครรภ์ ขณะเดียวกันจะเกิดความรู้สึกเห็นใจเพื่อนที่กำลังท้อง และให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดีในขณะที่เรียนร่วมกัน

“ในปี 2560 มีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีที่คลอดบุตรมากถึง 84,578 คน สิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ ต้องไม่ให้สถานศึกษาบีบบังคับให้เด็กกลุ่มนี้ลาออก เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่ามีสถานศึกษาบางแห่งพยายามใช้วิธีการต่างๆ ที่ทำให้เด็กตั้งครรภ์ต้องลาออกหรือย้ายที่เรียนไปเอง อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและวิชาชีพ ซึ่งที่ผ่านมา สสส. และ 5 กระทรวงหลัก ได้ร่วมมือกันสนับสนุนพัฒนาแนวทางดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ใน 20 จังหวัดนำร่อง หนึ่งในนั้นคือ “จังหวัดนครราชสีมา” ที่มีระบบดูแลช่วยเหลือ โดยมีจุดเน้นให้เด็กต้องได้เรียนอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปด้วย หากมีกรณีวัยรุ่นไม่พร้อมจะเรียนต่อในเวลาเรียนปกติ ก็จะจัดการเรียนการสอนให้ในวันเสาร์และอาทิตย์ ท้ายสุดหากจะย้ายสถานศึกษา จะมีระบบให้คำปรึกษาแก่นักเรียนและผู้ปกครอง และส่งต่อระหว่างสถานศึกษาแบบพี่น้อง” นพ.วิวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายภิญโญ ภูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังเวช กรุงเทพฯ สังกัด สพฐ. กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ตามกฎกระทรวง ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้เรียน อย่างเช่น เคยมีกรณีที่ มีเด็กชั้น ม.ต้นตั้งครรภ์ ภายหลังการปรึกษาหารือร่วมกัน ผู้ปกครองและเด็กมีความประสงค์จะเรียนต่อ ทางโรงเรียนจึงจัดระบบการเรียนการสอนภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดโดยครูและเพื่อนสนิท แต่เมื่อเด็กมีอายุครรภ์มากขึ้น จะต้องเปลี่ยนวิธีการให้เด็กกลับไปเรียนที่บ้าน โดยมีผู้ปกครองให้ความร่วมมือในการรับส่งมอบงานแทน

“หัวใจสำคัญของการเยียวยาสภาพจิตใจเด็ก คือการตีวงจำกัดคนที่รับรู้เรื่องนี้ให้แคบที่สุด เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกอับอาย ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนทัศนคติของครูผู้สอนเป็นเรื่องสำคัญมาก ครูต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ต้องไม่ปฏิบัติใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคับประคองเด็กให้ได้เรียนต่อเนื่องโดยไร้ความกังวล” นายภิญโญ กล่าว