ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

1 ใน 4 ของคนไทยความดันสูง จากการบริโภคโซเดียมสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า WHO ชี้มาตรการลดเค็มเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าได้ผลคืนกลับถึง 12 เท่า ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อปีถึง 98,976 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่โรมแรมเซนทารา แกรน เซนทรัลเวิลด์ ในการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  มีการประชุมความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนมาตรการลดโซเดียมในประเทศไทย จัดโดยองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ดร.แดเนียล เคอร์เทส

ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า  มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการบริโภคเกลือหรือโซเดียมที่มากเกินไปนั้นเป็นจะเพิ่มระดับความดันโลหิต เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจ เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และยังทำให้เกิดโรคไต กระดูกเปราะ และมะเร็งกระเพาะอาหาร แนะนำให้ควรบริโภคเกลือไม่ให้เกิน 5 กรัม (1 ช้อนชา) ต่อวัน หรือ โซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หากลดการบริโภคโซเดียมได้ทั่วโลกในระดับที่แนะนำ จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้กว่า 2.5 ล้านคน/ปี และยังให้ผลตอบแทนในการลงทุนถึง 12 เท่า เพราะทุก 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนในการลดโซเดียมจะได้ผลตอบแทนคืนกลับ 12 ดอลลาร์

“คนไทยโดยเฉลี่ยบริโภคโซเดียม 4,300 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า เป็นผลให้ 1 ใน 4 ของคนไทยมีภาวะความดันโลหิตสูง รัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สสส. รวมถึงสถาบันวิจัย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มผู้บริโภค มีข้อเรียกร้องให้ดำเนินการในทางปฏิบัติคือ ในกลุ่มผู้บริโภคสามารถลดปริมาณโซเดียมได้ด้วยการไม่เติมหรือลดเครื่องปรุงระหว่างการปรุงอาหาร หรือบนโต๊ะอาหาร จำกัดปริมาณการบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมสูง เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำเมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้านหรืออาหารสำเร็จรูปในกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงร้านอาหารต้องมีความรับผิดชอบโดยลดปริมาณโซเดียมลง เพื่อสุขภาพที่ดีของประชากรร่วมกัน” ดร.แดเนียล กล่าว

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม ร่วมส่งเสริมฉลากทางเลือกสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดการบริโภคโซเดียมในโรงพยาบาล องค์กรสถานประกอบการและในชุมชน ด้วยการไม่เติมและไม่วางเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหาร การส่งเสริมนวัตกรรมน้ำปลาลดโซเดียม เครื่องวัดปริมาณความเค็มของอาหาร รวมถึงการสร้างความตระหนักผ่านการสื่อสารรณรงค์ในสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักปรุงรสจัดถึงจะรู้สึกว่าอร่อย โดยไม่รู้ตัวว่าเสี่ยงต่อโรค ดังนั้นผู้บริโภคสามารถปรับพฤติกรรมลดการบริโภคเค็มลงได้ด้วยการลดปริมาณโซเดียมลงทีละ 5-10%

​นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

​นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า มาตรการลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย ได้ดำเนินการใน 4 มาตรการสำคัญซึ่งตรงกับกลยุทธ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ 1. ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร 2. การติดฉลากแสดงปริมาณโซเดียมเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภค 3.การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และ 4.การรณรงค์ให้ความรู้ ซึ่งจากการศึกษาประสิทธิภาพและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการลดโซเดียมในประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ในปี 2561 พบว่า มาตรการที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้มากที่สุด คือความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร โดยใช้มาตรการทางภาษีและราคา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่แต่ละปีมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มถึง 98,976 ล้านบาทต่อปี