ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปิดฉากการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 หลังประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สสส. ยืนยันหนุนเสริมการบูรณาการหน่วยงานทุกระดับทำงานร่วมกัน ด้านนักวิชาการชี้ พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น ส่งผลแนวโน้มอัตราแม่วัยรุ่นคลอดลดลง เหลือ 39 ต่อ 1,000 ในปี 60 แต่ยังห่างไกลแดนอาทิตย์อุทัย 4-5 ต่อ 1,000 เสนอส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น

วันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์ สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคีต่างๆ รวม 19 องค์กร

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมจะได้นำไปประมวล สังเคราะห์ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนานโยบายและมาตรการในภาพรวมของประเทศให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ในส่วนบทบาทของ สสส. นั้น จะยังคงให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานหลัก รวมถึงองค์กรและภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการบูรณาการการทำงานในทุกระดับ รวมถึงสนับสนุนการจัดการความรู้ เพื่อนำไปสังเคราะห์ข้อเสนอแนะในการยกระดับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายลดอัตราตั้งครรภ์ของวัยรุ่นลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2569 และสามารถป้องกันปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“การประชุมครั้งนี้ นับได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,600 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติ และตัวแทนเยาวชน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทนำข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการประชุมไปปรับใช้ในงานที่รับผิดชอบ” นพ.วีระพันธ์ กล่าว

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกล่าวในการปาฐกถาพิเศษ “ท้องไม่พร้อม…ทำยังไงให้พร้อม” ว่า หลังจากทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามสาระสำคัญใน พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ผลคือ แนวโน้มสถานการณ์การตั้งครรภ์วัยรุ่นค่อย ๆ ลดลง โดยดูได้จากอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นที่มีอายุ 15-19 ปี จากที่เคยมีอัตราสูงสุดถึง 53.4 ต่อพัน ในปี 2554 และ 2555 ล่าสุดตัวเลขลดลงเหลือ 39 ต่อพัน ในปี 2560 และตัวเลขนี้เชื่อถือได้ เพราะนับเฉพาะการคลอด ซึ่งปัจจุบันการคลอดในประเทศไทยเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเกือบ 100% แล้ว

“แม้ตัวเลขเหล่านี้จะแสดงถึงความสำเร็จน่าพอใจ แต่ถ้าเทียบกับบางประเทศเช่นญี่ปุ่น ตัวเลขการตั้งครรภ์วัยรุ่นในกลุ่มเดียวกัน เหลือเพียง 4-5 ต่อพันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จำนวนมากที่ประสบกับความไม่พึงปรารถนามากมาย นักเรียนหลายคนยังถูกบีบให้ย้ายหรือออกจากโรงเรียน กฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ โครงการที่ดีจำนวนมาก ยังไม่เปิดให้เกิดทางเลือกที่ดี และไม่เอื้อให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเท่าที่ควรในหลายหน่วยงานและหลายพื้นที่ สิ่งที่ต้องเร่งรัดและใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น คือ บทบาทหน้าที่ของส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น” นพ.วิชัย กล่าว