ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวัสดีวันหยุดครับ

วันนี้ลองนั่งอ่านเอกสารวิชาการหลายชิ้น เลยลองสรุปมาเล่าให้ฟังกันสั้นๆ เรื่องความรู้ที่เรามีในปัจจุบันเกี่ยวกับการปรับตัวของคนจากมลภาวะทางอากาศ...ซึ่งเมืองไทยเรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

ในปี ค.ศ.2005-6 เคยมีการวิจัยสำรวจเรื่องพฤติกรรมของประชาชนในเมืองพอร์ตแลนด์ และฮุสตันประเทศอเมริกา เกือบ 2,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศ

มีเพียงร้อยละ 30 ที่ได้รับข่าวสารว่ามีปัญหามลภาวะทางอากาศในพื้นที่ 

มีเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้นที่แจ้งว่ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองในการใช้ชีวิต ทั้งนี้ทั้งหมดปรับตัวเพราะรับรู้เองถึงผลของมลภาวะทางอากาศที่มีต่อตนเอง ไม่ได้มาจากเหตุผลอื่น

ในปีเดียวกัน มีงานวิจัยสำรวจในประชากรสหรัฐอเมริกา 6 เมือง จำนวนราว 34,000 คน พบว่า ร้อยละ 30 ของคนที่มีโรคประจำตัว และร้อยละ 16 ของคนที่แข็งแรงดี ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดกิจกรรมที่ออกไปในสภาพแวดล้อมภายนอกซึ่งมีมลภาวะทางอากาศ เนื่องจากได้รับข่าวจากสื่อสาธารณะ

รายงานวิจัยจำนวนหลายต่อหลายชิ้นพยายามพิสูจน์พบว่า กลิ่น การระคายเคือง และผลกระทบต่อสุขภาพ จะเป็นสามปัจจัยที่ทำให้คนรับรู้ถึงมลภาวะทางอากาศได้ดีที่สุด และยังไม่มีการวิจัยทราบถึงปัจจัยอื่นที่จะมีอิทธิพลได้เยอะกว่านี้

โดยสรุปคือ ความรู้เท่าที่เรามีปัจจุบันนั้น พอจะบอกได้ว่า การรับรู้เองจาก"กลิ่น การระคายเคือง ผลกระทบต่อสุขภาพ" และจากสื่อสาธารณะ ดูจะมีผลต่อการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนรับรู้และตระหนักถึงมลภาวะทางอากาศได้ ราวร้อยละ 10-16 โดยเรายังไม่ทราบเหมือนกันว่าสองอย่างนี้จะมีผลทับซ้อนกันมากน้อยเพียงใด

ใจคนนั้น ยากแท้หยั่งถึง

แต่พฤติกรรมคนนั้น เป็นการแสดงออกให้เห็น ดังนั้นอาจยากยิ่งขึ้น เพราะต้องหยั่งให้ถึงใจ และจูงใจเค้าให้ปฏิบัติด้วย

รัฐจึงควรดำเนินการทั้งการสื่อสารสาธารณะให้ชัดเจน แต่ไม่ควรรอให้เค้าประสบกับกลิ่น การระคายเคือง และผลกระทบต่อสุขภาพของเค้าด้วยตนเอง 

ที่รัฐควรทำเพิ่มคือ 

หนึ่ง การจูงใจให้เค้าปฏิบัติด้วยหลากหลายมาตรการ ทั้งเชิงบวก เชิงลบ เช่น การจัดหาหน้ากากที่เหมาะสมแก่การใช้งานจริงให้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอย่างครอบคลุม ไม่ต้องให้เค้าไปลงทุนเสาะหาเอง (ไม่ต้องเลิศหรู แต่ให้สมเหตุสมผล เพราะไม่มีอะไรป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น N95 อาจไม่ใช่คำตอบ แต่อาจเป็นหน้ากากอนามัยก็ยังดีกว่าไม่ใส่เลย)

สอง ปกป้องประชาชน อย่าให้โดนกระหน่ำซ้ำเติมของข่าวเท็จ ที่หลอกล่อให้หลงเชื่อ หลงไปปฏิบัติผิดๆ หลงไปซื้อผลิตภัณฑ์พิลึกกึกกือ

และสามคือ บอกประชาชนในสังคมถึงโอกาสที่จะต้องเผชิญมลภาวะทางอากาศเช่นนี้ในอนาคต เพื่อให้เค้าเตรียมตัว เตรียมใจ และวางแผนดำรงชีวิตเค้าและครอบครัวให้เหมาะสม 

ด้วยรักต่อทุกคน

ป.ล.ใกล้วันเลือกตั้งแล้ว...อย่าลืมไปใช้สิทธิกันนะครับ ครั้งนี้สำคัญมากกกกกกกกกก!!!

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
เอกสารอ่านเพิ่มเติม

1. Laumbach R et al. What can individuals do to reduce personal health risks from air pollution? J Thorac Dis 2015;7(1):96-107.

2. United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division (2014). World Urbanization Prospects: The 2014 Revision, Highlights (ST/ESA/SER.A/352).

3. Campbell ME, Li Q, Gingrich SE, et al. Should people be physically active outdoors on smog alert days? Can J Public Health 2005;96:24-8.

ขอบคุณภาพจาก Greenpeace Thailand