ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในเวทีการประชุม Side Meeting รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ประจำปี 2562 ได้แก่การ "ถอดบทเรียน" การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ผ่านการจัดการกับปัญหาโรคเอดส์ทั่วโลก โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเอดส์จากทั่วโลกเข้าร่วมหารือ และสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งนับวันจะเป็นมหันตภัยใหญ่ สำหรับหลายประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า แต่ละปี มีผู้ป่วยด้วยโรค NCDs อย่าง มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ โรคไต มากกว่า 41 ล้านคนต่อปี หรือเท่ากับ 71% ของการเสียชิวิตทั้งหมด นอกจากนี้ มากกว่า 15 ล้านคนที่เสียชีวิตนั้น มีอายุเพียงแค่ 30 - 69 ปี ซึ่งถือว่าเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และโรค NCDs ยังถือเป็น 85% ของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเลยทีเดียว

สำหรับโรค NCDs ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดได้แก่

1.โรคหลอดเลือดหัวใจ 17.9 ล้านคน

2.โรคมะเร็ง 9 ล้านคน

3.โรคระบบทางเดินหายใจ 3.9 ล้านคน

และ 4.โรคเบาหวาน 1.6 ล้านคน

โยแกน พิลเลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ประเทศแอฟริกาใต้ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ มักจะมีความเข้าใจผิดๆ ว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้ มักเกิดในประเทศรายได้ปานกลาง หรือประเทศร่ำรวย และเกิดจากการบริโภคมากเกินไป หรือความ "ขี้เกียจ" เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบใหม่ก็คือ ในประเทศกำลังพัฒนา ก็มีสถิติการเจ็บป่วย และการเสียชีวิตที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ทั้งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากบุหรี่ หรือจากอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ มีไขมันสูง ฯลฯ

โยแกนบอกว่า บทเรียนสำคัญที่ได้จากการต่อสู้กับโรคเอดส์ก็คือ โรคเอดส์นั้นร้ายแรง ไม่มีทางรักษา และสามารถสร้างความ "ตระหนักรู้" ให้กับทั้งผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงมากกว่า เช่นเดียวกับการรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเข้มข้นตั้งแต่วัยเรียน และแทรกซึมลงไปถึงชุมชน ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ผู้ป่วยเอดส์ลงลงอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อมองไปถึงขั้นตอนการประคับประคองโรค โยแกนบอกว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้น มีการรวมตัวกันของทั้งตัวผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการรักษา ไปจนถึงวิธีการใช้ชีวิต เพราะตระหนักดีว่า การรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่ง จะสามารถต่ออายุของผู้ป่วยให้ยืนยาวขึ้น แต่ผู้ป่วยโรค NCDs ยังคงเป็นปัจเจก ไม่มีการรวมตัว และเมื่อไม่มีการรวมตัว สังคมภายนอกก็ไม่ให้ความสนใจ ต่างคนต่างต้องดูแลกันเองตามยถากรรม หากสามารถรวมตัวกันได้มากกว่านี้ และหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนการรวมตัว ก็จะทำให้ตัวผู้ป่วยเข้มแข็งขึ้น และเข้าถึงการรักษาที่มากกว่าเดิมได้มากขึ้น เพราะถือว่ามี "ตัวตน" ในสายตาของทั้งรัฐ ทั้งเอกชน และจากเอ็นจีโอ

ขณะเดียวกัน ปัจจัยสำคัญอีกอย่างของการจัดการกับโรคเอดส์ คือการที่ "โลก" ให้ความสนใจ จนนำไปสู่การพยายามเอาชนะ รวมถึงรัฐบาลและองค์การพัฒนาเอกชน ก็ร่วมกันต่อสู้กับบริษัทยาอย่างเข้มแข็ง จนทำให้ค่ายาต้านไวรัสเอชไอวีถูกลง จนผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ ไม่ต้องเสี่ยงกับการต้องเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงยาต้านไวรัสราคาแพงอีกต่อไป

แต่โรค NCDs ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นเพราะคนยังคิดว่าภัยจากโรคพวกนี้ไม่ได้อันตราย และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค NCDs ไม่ได้แพงขนาดนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายต่อหัวในการรักษาโรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคมะเร็ง หากต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน ก็อาจทำให้ผู้ป่วย-ญาติ ล้มละลายเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของบางประเทศ ไม่ได้ครอบคลุมโรคเหล่านี้ด้วยซ้ำ เพราะเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่กับเอดส์ หลายประเทศที่ไม่ได้มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ฟรี

เรื่องเร่งด่วนสำหรับ NCDs ก็คือ ผลักดันให้โรคเหล่านี้ ครอบคลุมภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของแต่ละประเทศให้ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และนำไปสู่การลดอัตราการเสียชีวิตในที่สุด

โยแกนสรุปว่า เอดส์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตราย การรณรงค์ การรวมเครือข่ายผู้ป่วย และการสร้างระบบ "ระดมทุน" เพื่อให้รัฐบาลทั่วโลกสนใจ เพื่อเป้าหมายเดียวกันกับขององค์การอนามัยโลก คือสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพ และ "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

ขณะที่ อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งในไทย และทั่วโลก คือการ "ตีตรา" และเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเชื้อเอชไอวี มีความรุนแรง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยในประเทศไทย ต้องใช้ระยะเวลานานนับ 10 ปี จึงจะสามารถสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม จนสามารถนำไปสู่การรักษาที่มีคุณภาพ ได้รับยาสม่ำเสมอในที่สุด

ขณะเดียวกัน อภิวัฒน์ยังบอกอีกว่า "การรวมกลุ่ม" ผู้ป่วย เพื่อให้คำปรึกษาซึ่งกันและกัน รวมถึงให้โรงพยาบาล เข้ามาติดต่อกลุ่มผู้ป่วยโดยตรง หากมีการรักษา หรือมีวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ ก็ทำให้ผู้ป่วยเอดส์ สามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ผลลัพธ์ก็คือ ผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย มีกลุ่มคนที่ "ตกสำรวจ" น้อยมาก และในบรรดาผู้ป่วยทั้งสิทธิ์ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิ์ "บัตรทอง" ต่างก็ได้รับการรักษาอย่างถ้วนหน้า

จุดเด่นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยนั้น ผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสสามารถกดปริมาณไวรัสลงได้มีจำนวน 184,953 คน หรือ 73.77% ซึ่งเป็นผลสำคัญของการ "เข้าถึง" การรักษา

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในปี 2560 ประเทศไทย ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 5,801 คน หรือเฉลี่ยวันละ 16 คน ซึ่งยังสูงไม่น้อย สะท้อนให้เห็นว่าการป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังมีอะไรให้รัฐบาลต้องทำอีกมาก เช่นเดียวกับโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ที่ยังต้องสร้างระบบติดตามกลุ่มเสี่ยง ประเมินผลผู้ติดเชื้อรายใหม่ และสร้างการ "รวมกลุ่ม" เพื่อกระตุ้นให้สังคม- รัฐ เข้ามาสนใจมากขึ้น เป็นเรื่อง "การเมือง" เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อทำให้เสียงของผู้ป่วย ดังมากขึ้น

ส่วน แอนเดอร์ส นอร์ดสตอร์ม อดีตรักษาการผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ชาวสวีเดน กล่าวว่า การจัดการกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่อง "การเมือง"

ในขณะที่โลก กำลังวุ่นกับโรคระบาด หรือการขาดสารอาหารในแอฟริกานั้น อยู่ดีๆ โรคเอดส์ ก็เกิดขึ้น พร้อมกับระบาดอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีหนทางรักษา ในระยะเริ่มแรก การรณรงค์จึงเกิดขึ้น และ "โมเมนตัม" ของทั้งองค์การอนามัยโลก และสหประชาชาติ หันไปหาการป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่ม ถึงขั้นที่ว่า สหประชาชาติตั้งองค์กรอย่างโครงการร่วมของสหประชาชาติเกี่ยวกับโรคเอดส์ (UNAIDS) ขึ้นมา เมื่อปี 2537 เพื่อรณรงค์ ป้องกัน และค้นคว้า เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์โดยเฉพาะ

แต่ถามว่าโรค NCDs จะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ นอร์ดสตอร์มคิดว่าคงไม่ง่าย แต่ก็ต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพราะในเวลาที่หลายประเทศ กำลังพัฒนาขึ้น ผู้ป่วยในโรคเหล่านี้ก็มากขึ้นตาม ขณะเดียวกัน โรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก NCDsก็ยังเป็นภัยคุกคามเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น หลักการสำคัญก็คือ ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เกิดขึ้นจริงทั่วโลกให้ได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ในปี 2573

หากทำได้ ก็จะสามารถดึงผู้ป่วยโรค NCDs ให้เข้าถึงการรักษามากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลดจำนวนผู้ป่วย- ผู้เสียชีวิต

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่างๆ อีกมาก โดยเฉพาะประเทศร่ำรวย ประเทศพัฒนาแล้ว ต้องมีส่วนร่วมในการ "รณรงค์ทางการเมือง" มากกว่านี้ เพื่อทำให้ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต จากโรค NCDs ลดลงได้ในที่สุด