ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาการพยาบาล ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการตามมาตรา 18 (13) เพื่อรับฟังสภาพปัญหาเฉพาะกลุ่มพยาบาล ที่ จ.บุรีรัมย์ โดยมีพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลระดับต่างๆในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกือบ 300 คน แบ่งเป็น 11 กลุ่มย่อย หารือปัญหาและแนวทางแก้ไขใน 3 ประเด็นหลัก คือ พยาบาลวิชาชีพห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER), พยาบาลวิชาชีพในระบบบริการปฐมภูมิ และพยาบาลแผนกสูติกรรม

ในส่วนของปัญหาและข้อคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพแผนกสูติกรรมนั้น มีกลุ่มย่อยที่แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 3 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

นางปาริชาติ สำราญบัว รองหัวหน้างานห้องคลอด โรงพยาบาลยโสธร เป็นตัวแทนนำเสนอข้อคิดเห็นของกลุ่มที่ 1 ว่า งานในห้องคลอดไม่ใช่แค่ทำคลอดแล้วจบ แต่ต้องดูแลตั้งแต่คนไข้ตั้งครรภ์ ดูแลในช่วงรอคลอด บางเคสยุติการตั้งครรภ์ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเดือน แต่เวลาคิด FTE คิดแค่ตอนคลอด ทำให้อัตรากำลังไม่สอดคล้องกับความจริง ในโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง 1 ปี มีผู้คลอด 10-20 เคส เห็นได้ชัดว่าจะเกิดความเสี่ยงกับผู้รับบริการเพราะพยาบาลขาดทักษะและประสบการณ์

ในส่วนของอัตรากำลังในภาพรวม ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่พอ เช่น การสังเกตการณ์ระหว่างรอคลอดอย่างน้อยคนละ 15 - 30 นาที อัตรากำลังพยาบาลที่เข้าไปดูแลแค่ 1 ต่อคนไข้ 6 คนคงไม่พอกับการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่อัตราส่วนระหว่างคลอดอยู่ที่พยาบาล 2 คนต่อผู้คลอด 1 คน แต่ในโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งมีเจ้าหน้าที่ห้องคลอดแค่ 1 คน ส่วนคนอื่นมาจากแผนกอื่น เช่น ER ภาระก็จะตกที่หัวหน้างานห้องคลอด ต้องรับคอนซัลท์หรือต้องขึ้นมาช่วยในห้องคลอดโดยไม่มีค่าตอบแทน

"ในประเด็นเรื่องการเข้าถึงบริการไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่การส่งต่อเพราะโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีสูตินรีแพทย์แล้วคนที่จะส่งต่อได้คือแพทย์ ถ้าแพทย์มีความเกรงใจหรือมีอัตตา บอกว่าเอาอยู่ พยาบาลก็ได้แต่สังเกตอาการ จนรับมือไม่ไหวค่อยส่งมาโรงพยาบาลจังหวัด กว่าจะแก้ไขได้ก็ยาก รวมทั้งเรื่องการพัฒนาศักยภาพพยาบาลห้องคลอด อย่างเรื่องภาวะเสี่ยงสูงในหญิงตั้งครรภ์ มีสถาบันที่สอนที่เดียวที่ขอนแก่น บางโรงพยาบาลอยากส่งคนไปเรียนแต่ก็ไม่มีงบประมาณ ดังนั้นอยากให้มีการสนับสนุนในส่วนนี้" นางปาริชาติ กล่าว

ด้านนางสายวสันต์ คุณอุดม หัวหน้าห้องคลอด โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 2 นำเสนอปัญหาของพยาบาลแผนกสูติกรรมว่า ส่วนใหญ่แล้วจะพบปัญหาในโรงพยาบาลชุมชน ผู้ป่วยไม่ปลอดภัยเนื่องจากไม่ใช่ระบบแพทย์เจ้าของไข้ อีกทั้งโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีสูตินรีแพทย์ แพทย์ย้ายบ่อย ทำให้แนวทางการรักษาไม่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่มีมาตรฐาน

"ข้อเสนอคือแพทย์ควรมีแนวทางการรักษาแนวทางเดียวกัน มีการดูแลมาตรฐานการรักษาของแพทย์ และควรมีพยาบาลห้องคลอดที่มีสมรรถนะเพียงพอ สามารถดูแลครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงเพราะผู้คลอดส่วนใหญ่ 80% ไม่ได้คลอดตามธรรมชาติแล้ว ดังนั้นพยาบาลต้องมีสมรรถนะสูงเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีหลักสูตรการผดุงครรภ์ในภาวะเสี่ยงสูงจัดที่เขตสุขภาพที่ 7 ดังนั้นอยากให้แต่ละหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาต่อด้วย"

ปัญหาต่อมาคืออัตรากำลังห้องคลอดไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตามมาตรฐานคนไข้ที่เข้าห้องคลอดคือพยาบาล 2 คนต่อคนไข้ 1 คน ปัจจุบันที่ทำได้ในโรงพยาบาลชุมชนก็ 2 ต่อ 1 แต่พยาบาลที่มาก็เป็นพยาบาลจาก ER ที่มาช่วยบ้าง ส่งผลกระทบต่อคนไข้เพราะต้องดึงอัตรากำลังจากหน่วยงานอื่นมาช่วย

นอกจากนี้ พยาบาลห้องคลอดยังมีความเครียดสูง ถูกฟ้องร้องบ่อย มีอัตราการลาออกเยอะ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ทั้งในแง่ความก้าวหน้าและค่าตอบแทน ตลอดจนการได้รับความช่วยเหลือเมื่อถูกฟ้อง รวมทั้งต้องทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากการดูแลคนไข้ โดยเฉพาะการคีย์ข้อมูล

"อัตรากำลังในการดูแลหลังคลอดยังเป็น 1 ต่อ 6 แทนที่จะเป็น 1 ต่อ 3 ตามมาตรฐาน ดังนั้นขอเสนอให้มีการจัดอบรม โดยเฉพาะหลักสูตรผดุงครรภ์ ตลอดจนพัฒนาระบบสารสนเทศให้ทันสมัยเชื่อมโยงข้อมูลได้ครบถ้วน ไม่ต้องคีย์หลายอย่าง รวมทั้งขอให้องค์กรวิชาชีพเปิดช่องทางก้าวหน้าและให้ความช่วยเหลือเมื่อถูกฟ้องร้องมากขึ้น" นางสายวสันต์ กล่าว

นางสายวสันต์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสตรีที่มีความเสี่ยงสูงมีมากขึ้นแต่พยาบาลยังขาดสมรรถนะ โดยเฉพาะในห้องคลอด, งาน ANC ที่ต้องคัดกรองความเสี่ยง และการพยาบาลหลังการคลอด จึงอยากของบประมาณสนับสนุนการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะผู้ปฏิบัติงานให้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณในส่วนของเครื่องไม้เครื่องมือและยาต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรฐานว่าหญิงที่มายับยั้งการคลอดต้องได้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แต่ไม่ได้กำหนดไว้ในบัญชียาหลัก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ไม่เพียงพอต่อผู้รับบริการ ไม่มีการสนับสนุนงบประมาณวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หรือยาบางอย่างที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไซโตเทค แต่ก็ยังต้องให้เพราะมีราคาถูก ทั้งๆที่จริงๆแล้วยังมียาอื่นที่ปลอดภัยมากกว่าแต่ก็มีราคาแพง ประเด็นนี้ก็ยังขาดงบประมาณสนับสนุนเช่นกัน

ขณะที่ นางนิตยา ทองประเสริฐ หัวหน้างานห้องคลอด โรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ จ.ชัยภูมิ เป็นตัวแทนกลุ่มที่ 3 นำเสนอว่ามีข้อเสนอแนะต่อ สปสช.ให้พัฒนาระบบการส่งต่อข้ามเขต เนื่องจากระบบ Refer ในพื้นที่รอยต่อระบบมีความล่าช้า มีขั้นตอนหลายขั้นตอน บางแห่งถ้าคนไข้ไปรับบริการกับโรงพยาบาลที่ไม่ใช่สิทธิของตัวเอง ก็ต้องประสานเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีสิทธิ เกิดความล่าช้าทำให้คนไข้มีภาวะเสี่ยงได้

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการอบรมการไกล่เกลี่ยข้อร้องเรียนสำหรับพยาบาลห้องคลอด มีระบบการเยียวยาต่อเนื่องจากมาตรา 41 เนื่องจากถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น กรณีพิการจากการคลอดติดไหล่ โรงพยาบาลก็ต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยเป็นผู้ป่วย VIP ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลอย่างต่อเนื่องจนเงินโรงพยาบาลเหลือน้อย

ในส่วนของข้อเสนอแนะสำหรับกระทรวงสาธารณสุข นางนิตยากล่าวว่าอยากให้มีการสร้างแรงจูงใจพยาบาลห้องคลอด เพราะเป็นแผนกที่คนไม่อยากมาอยู่ งานหนักความเครียดสูง การร้องเรียนสูง ค่าตอบแทนน้อย ขาดงบประมาณฝึกอบรม ขณะเดียวกันอยากให้เพิ่มอัตรากำลังห้องคลอด เนื่องจากปัจจุบันมีอัตรากำลังไม่เพียงพอทำให้ชั่วโมงการปฏิบัติงานมากขึ้น ต้องดูแลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังคลอด เมื่อมีเหตุฉุกเฉินทำให้ผู้คลอดได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง อาจเกิดความไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงถูกร้องเรียน

นางนิตยายังเสนอให้คิดภาระงานทั้งในส่วนของเด็กแรกเกิดในห้องคลอดและหลังคลอด เพราะปัจจุบันไม่ได้คิดภาระงานเด็กแรกเกิด ทำให้ไม่ได้รับการจัดสรรอัตรากำลังจากกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ควรเพิ่มค่าตอบแทนตามอายุงาน ประสบการณ์ การศึกษา เพราะค่าตอบแทนสัมพันธ์กับความรู้ความสามารถ รวมทั้งเสนอให้กำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษสำหรับพยาบาลในห้องคลอด มีเกณฑ์การปรับตำแหน่งให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง และเพิ่มการฝึกอบรมเฉพาะทางพยาบาลด้านสูติกรรม กำหนดสัดส่วนพยาบาลเฉพาะทางเป็น 80% ของพยาบาลในห้องคลอด