ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการโลกร่วมย้ำ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของบุคคลและประชากร เป็นหัวใจของการลดปัญหาโรคไม่ติดต่อของทั้งโลก ผจก. สสส. เสนอบทเรียนการลดพฤติกรรมเสี่ยงในไทย บุหรี่ เหล้า อาหาร กิจกรรมทางกาย ใช้มิติสังคมวัฒนธรรมในการสื่อสารควบคู่การผลักดันนโยบาย

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ศ.เทเรซา มาร์ทอ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และ ศ.คาเรน แกลนซ์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ร่วมกันบรรยายในการประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “การจัดการปัจจัยทางพฤติกรรมที่กำหนดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง: การเสริมขีดความสามารถ หรือ การตำหนิกล่าวโทษ?” (Addressing the Behavioral Determinants of NCDs: Empowering or Victim-Blaming?) ถึงความซับซ้อนของสาเหตุของโรคไม่ติดต่อซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพหลักของประชากรทั่วโลกในปัจจุบันนี้ โดยเน้นในการชี้ถึงปัจจัยทางพฤติกรรมและวิถีชีวิต โดยเฉพาะในสี่พฤติกรรมเสี่ยงหลักอันได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารไม่เหมาะสม และการขาดกิจกรรมทางกาย

รวมทั้งแสดงถึงองค์ความรู้ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในด้านการเพิ่มการรอบรู้ทางสุขภาพของบุคคล ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการใช้เพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน ขณะเดียวกันควรพึงรู้เท่าทันการโฆษณาชวนเชื่อของสินค้าทำลายสุขภาพด้วย กระบวนการเหล่านี้ต้องดำเนินไปตลอดในทุกช่วงวัยของชีวิต และได้ชี้ถึงนวัตกรรมใหม่ๆในการปรับพฤติกรรมของผู้คน เช่นการใช้ “การผลัก” (nudge) ในการจูงใจให้คนเลือกทางเลือกสุขภาพโดยผ่านช่องทางเลือกที่สะดวกกว่า

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมอภิปรายถึงบทเรียนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในสังคมไทยว่า ต้องใช้ความเข้าใจมิติทางสังคมวัฒนธรรมไทยร่วมกับกระบวนการตลาดเพื่อสังคมและการรณรงค์ในระดับปฏิบัติ ควบคู่กับการผลักดันนโยบายที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ตัวอย่างเช่น “งดเหล้าเข้าพรรษา” ได้ใช้รากวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาสร้างกระแสหลักตลอดช่วงเข้าพรรษา “รับน้องปลอดเหล้า” มุ่งสกัดค่านิยมการใช้เหล้าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ใหญ่ หรือ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ที่ใช้ค่านิยมเรื่องวันมงคลแบบไทยๆ ต่อต้านการให้เหล้าเป็นของขวัญ

ร่วมไปกับการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น การจำกัดการทำการตลาดและการจำกัดอายุผู้ซื้อ และสถานที่ขายและดื่มด้วย เป็นต้น โดยได้ย้ำความสำคัญของการให้ความสำคัญของปัจจัยทางสังคมสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมอภิปรายในประเด็นข้อควรระวังในการที่จะไปสู่ “การประณามเหยื่อ” หรือผู้ที่ยังไม่มีพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้วยังมีผลกระทบทางลบหลายด้านในสังคม