ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เยาวชนเปิดผลสำรวจตราเสมือนสุรา ตั้งใจเลี่ยงกฎหมายของธุรกิจแอลกอฮอล์ ชี้เด็กเยาวชนตกเป็นเหยื่อโฆษณาแฝง โพลระบุชัดกว่าร้อยละ 82มองเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างแรงจูงใจ ด้านนักกฎหมายจี้กรมทรัพย์สินฯ เร่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้า เหตุใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เรียกร้อง สคบ. อย่าเฉยกับโฆษณาฉ้อฉล ด้านสภาเด็กและเยาวชนหนุนปลุกสำนึกรู้ทันทุนน้ำเมากระจายวงกว้างในสังคม

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ที่เดอะฮอล์บางกอก เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสุข สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยและเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดเสวนา หัวข้อ “เยาวชนรู้ทันแอลกอฮอล์ กรณีตราเสมือนเลี่ยงกฎหมาย”

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวถึงผลสำรวจการรับรู้และความคิดเห็นของเด็กเยาวชน กรณีภาพสัญลักษณ์และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างวันที่ 18-28 ก.ย.61 กว่าหนึ่งพันตัวอย่าง โดย เครือข่ายเยาวชนฯ ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแสดงภาพให้ดูจำนวน10 ภาพ เมื่อเห็นภาพสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายหรือป้ายโฆษณานั้น ทำให้รับรู้หรือนึกถึงสินค้าประเภทใด โดยผลสำรวจพบว่า เด็กเยาวชนมองเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงกว่าร้อยละ 82.29 และสิ่งที่ทำให้คิดว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมองจากสีสันร้อยละ 29.19 รูปภาพ คน/สัตว์ ร้อยละ 33.83 ตัวอักษรร้อยละ 21.26 เครื่องหมาย/สัญลักษณ์ร้อยละ 14.14 เมื่อถามว่า เคยพบเห็นรูปภาพหรือสัญลักษณ์เหล่านี้จากที่ใดบ้าง ส่วนใหญ่ตอบว่าจากสื่อออนไลน์ร้อยละ 32.43 โทรทัศน์ร้อยละ 24.68 และป้ายขนาดใหญ่(บิลบอร์ด) ร้อยละ 21.13

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างรู้สึกสับสนต่อการโฆษณาที่ใช้ภาพสัญลักษณ์ที่คล้ายกันระหว่างเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสินค้าประเภทอื่นที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือไม่ ผลสำรวจเกินครึ่งระบุว่า สับสน/แยกแยะได้ยาก ร้อยละ 53.30 เมื่อถามว่าคิดว่าการแสดงภาพสัญลักษณ์ข้างต้น เป็นเจตนาเลี่ยงกฎหมายเพื่อให้คนเข้าใจไปว่าเป็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ ผลระบุว่า เป็นเจตนาเลี่ยงกฎหมายเพื่อโฆษณาแฝงร้อยละ 42.60 และเมื่อถามว่าคิดว่าตราสัญลักษณ์ดังกล่าว มุ่งจูงใจกลุ่มคนวัยไหนมากที่สุด ผลสำรวจพบว่าจูงใจ เด็กและเยาวชนสูงที่สุด กว่าร้อยละ 69 ที่สำคัญเมื่อถามถึงการรับรู้ พบเห็นภาพสัญลักษณ์และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลในเชิงจูงใจให้ผู้พบเห็นตัดสินใจซื้อมากถึงร้อยละ 38.68 และจูงใจโดยอ้อมร้อยละ 57.77

"ตราสัญลักษณ์ที่ใช้สอบถามทั้งหมดเป็นตราน้ำดื่ม น้ำโซดา และตราอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เห็นแล้วคิดว่านี้คือตราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการโฆษณากลุ่มผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในทุกช่องทาง ไม่ให้มีความคลุมเครือจนกลายเป็นเครื่องมือหลบเลี่ยงกฎหมายของธุรกิจน้ำเมาแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเด็กเยาวชนที่กลายเป็นเหยื่อ" นายธีรภัทร์ กล่าว

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าน้ำดื่มต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าลักษณะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 กรณีเป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามรับจดทะเบียน ตาม มาตรา 8 (13) เครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด กล่าวคือเข้าลักษณะเครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตาม มาตรา 8 (13) โดยมีการออก "ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2543) เรื่อง เครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน" โดยเข้ากรณี ข้อ 2 เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วมที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน คือ (2) เครื่องหมายและคำบรรยายซึ่งอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้าหรือบริการหรือสับสนหรือหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดหรือความเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการ

นายไพศาล กล่าวด้วยว่า คนทั่วไปสับสน ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับน้ำดื่มหรือผลิตภัณฑ์ที่มิใช่สุราตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตได้ มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551เป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ธุรกิจสุราก็ใช้อาศัยช่องว่างของกฎหมายเลี่ยงไม่ใช้เครื่องหมายการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณา ใช้เล่ห์กลไปจดทะเบียนน้ำดื่ม โซดาหรือผลิตภัณฑ์อื่นแทน แต่เป้าหมายแท้จริงคือ ต้องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อต่าง ๆ

“ซึ่งอยากเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่รับจดทะเบียนให้กับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของเครือข่ายธุรกิจสุราที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันที่เคยจดทะเบียนไว้ เพราะถือเป็นกรณีการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามกฎหมาย และถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ในขณะที่มองในมิติผู้บริโภคก็สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายหลอกลวงทำให้สับสน ผลสำรวจที่ออกมาก็ระบุชัดโดยเฉพาะเด็กเยาวชนที่กลายเป็นเหยื่อ ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็น่าจะลงมาดูปัญหานี้ด้วย" นายไพศาล กล่าว

ขณะที่ น.ส.สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มเยาวชนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการโฆษณาของบริษัทแอลกอฮอล์ คงต้องนำข้อมูลผลสำรวจนี้กระตุ้นให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปทำงานสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างการเรียนรู้ ความเข้าในสังคม โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อปลุกจิตสำนึกการรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันการตลาดน้ำเมา สร้างการเรียนรู้ และเกิดความตระหนัก ที่จะปฏิเสธไม่หลงกลโฆษณาของกลุ่มทุนธุรกิจเหล้า ที่จ้องแสวงหาผลประโยชน์ ขณะเดียวกันภาครัฐ หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องตระหนักในหน้าที่ ซึ่งต้องเร่งรัดในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้ปล่อยให้โฆษณาตราเสมือน ที่อันตรายเหล่านี้ลอยนวลอยู่ในสื่อต่างๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าส่งผลโดยตรงต่อเยาวชน ที่เสพข้อมูลโดยตรง ซึ่งเราในฐานะเยาวชนก็ถือเป็นหน้าที่อีกส่วนที่ต้องกระตุ้น หรือ ปลุกจิตสำนึก รัฐบาล หรือ หน่วยงานราชการ ด้วยเช่นกันเพื่อให้สังคมเห็นถึงปัญหา ไม่เมินเฉย สภาเด็กและเยาวชนฯ จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้มีมาตรการออกมาป้องกันและแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม และในช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ ก็อยากเห็นบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ หันมาสนใจปัญหาเด็กและเยาวชนให้มากกว่านี้ด้วย