ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุขนิเทศเขต 4  แนะใช้ 3 ส. ช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ ชี้คนตายจากบุหรี่ปีละ 5 หมื่นกว่าคน หรือ 6 คนต่อชั่วโมง เผยกลไกจัดการที่มีประสิทธิภาพ คืนข้อมูลให้พื้นที่ ส่งต่อ อสม.ค้นหา ชักชวนได้ผล พบยอดผู้รับการบัดบัดพุ่งจากร้อยละ 21.86 เป็นร้อยละ 98.08 ภายใน 1 เดือน พร้อมเร่งขยายโมเดลสู่จังหวัดใกล้เคียง  

เมื่อวันที่ 14  ก.พ.62  ที่โรงแรมนนทบุรีพาเลส จ.นนทบุรี- นายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมติดตามสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 3 โดย มีนายมงคล เงินแจ้ง นายกสมาคมหมออนามัย กล่าววัตถุประสงค์การประชุม พร้อมด้วยนายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แกนนำ สาธารณสุขอำเภอ และผู้รับผิดชอบงานระดับจังหวัดในเขตสุขภาพที่4-5และ6 จำนวนกว่า 50 คน ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ

นายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย 

นายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถิติการตายจากบุหรี่ประมาณปีละ 50,710 คน หรือ 139 คนต่อวัน 6 คนต่อชั่วโมง จึงต้องทำให้ประชาชนเกิดความตระหนัก รู้ถึงพิษภัยบุหรี่อย่างทั่วถึง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การชวนคนเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ 3 ล้านคนใน 3 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่จะช่วยให้โครงการเข้าใกล้เป้าหมาย คือ ระบบฐานข้อมูลที่ดีและนำไปใช้อย่างถูกต้อง รวมถึงผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ ความเข้าใจในทุกระดับ นอกจากนี้มาตรการระดับเขต จังหวัด จะต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน มีระบบเทคโนโลยีที่สอดคล้องกัน ใช้กลไก อสม. 1 คน ชักชวนคนเลิกสูบบุหรี่อย่างน้อย 3 คน การชักชวนต้องเข้าถึงจิตใจคนสูบ รู้ถึงสาเหตุและที่มาก็จะช่วยให้เลิกได้เร็วขึ้น โครงการนี้เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดเป็น Performance Agreement (PA) กระทรวงแล้ว ดังนั้นการทำงานต้องเข้มข้นควบคู่กับการรณรงค์ 3  ส. คือ 1.คนสูบ ต้องสูบในที่ที่ควรสูบ 2.คนสูบ เลิกสูบได้ 3.คนสูบเลิกได้ ไปชวนคนอื่นให้เลิกสูบด้วย นอกจากนี้ต้องทำต่อเนื่อง ติดตาม และใช้ใจทำงาน เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ก็ขอให้กำลังใจคนทำงาน เพราะการชวนคนเลิกบุหรี่เป็นเรื่องยาก คนทำงานต้องมีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง เพื่อจะได้ช่วยเหลือชีวิตคนและสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนต่อไป    

นางอังศุมาลิน มั่งคั่ง

นางอังศุมาลิน มั่งคั่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อสุขภาพจิตยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก กล่าวว่า สถานการณ์ข้อมูลในโปรแกรม HDC ระบบ 43 แฟ้มของกระทรวงสาธารณสุข ผลงานเขต 4 ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย ต่ำเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยจังหวัดนครนายกเป็นอันดับ 6 ของเขต เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมายังมีความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบาย ตลอดจนยังมีปัญหาการนำเข้าสู่ระบบข้อมูลที่ไม่ต่อเนื่อง จนกระทั่งไม่นานนี้ได้มีความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน เป็น PA กระทรวง จึงทำให้ผู้บริหารระดับสูงของเขตและจังหวัด มีนโยบายเร่งด่วนดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานระดับเขตขึ้น ให้นครนายกเป็นเจ้าภาพหลักเร่งดำเนินงานวางแผน ติดตามการทำงาน ติดตามข้อมูล และผลงานเขต นำเสนอผู้บริหารระดับจังหวัด และเขตอย่างต่อเนื่อง 

โดยแนวทางการทำงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. การชักชวนผู้สมัครใจ แล้วบันทึกนำเข้าข้อมูล ทำการคัดกรอง 2. การบำบัดผ่านคลินิกฟ้าใส และการแนะนำของ รพ.สต.- อสม เพื่อใช้สมุนไพรบำบัด ให้คำแนะนำ ส่งตอต่อ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3.ติดตาม จะติดตามทุกระยะ จนสามารถเลิกบุหรี่ได้จริง โดยคณะทำงานจะดึงข้อมูลชุดเดียวกันจาก HDC มาเปรียบเทียบรายจังหวัด เขต ประเทศ และรายงานผู้บริหารทุกระดับ เพื่อกระตุ้น ติดตาม นอกจากนี้ระบบกลไกจัดการได้ประสาน 3 หน่วยงาน คือ ฝ่าย IT ยุทธศาสตร์ งานสุขภาพภาคประชาชน (ดูแล อสม.) และ คลินิก NCDในโรงพยาบาลทุกแห่งที่มีการคัดกรองและบันทึกข้อมูล จากนั้นจังหวัดจะดึงข้อมูลจากระบบ แยกรายสถานบริการแล้วส่งคืนพื้นที่เป็นเป้าหมายในการชักชวนเข้ารับการบำบัด จากนั้นให้ รพ.สต.และ อสม.ลงพื้นที่ไปยังบ้านเป้าหมาย ทำการชักชวน เชิญชวนเข้าสู่โครงการฯ เข้าสู่การบำบัดและบันทึกลงในระบบ HDC 43 แฟ้มของ รพ.สต. ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนค้นหา สร้างความเชื่อมั่นให้ อสม.ในการทำงานที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งจากเดิมข้อมูล HDC วันที่ 8 ม.ค. 2562  นครนายกมีเป้าหมาย 11,877 คน  ผู้รับการบำบัด จำนวน 2,597 คน หรือ ร้อยละ 21.86 เปลี่ยนเป็นมีผู้รับการบำบัดเพิ่มขึ้นถึง 11,649 คน  คิดเป็นร้อยละ 98.08 (ณ วันที่ 8 ก.พ. 2562) ทั้งนี้กระบวนการทำงานดังกล่าวได้เผยแพร่ไปยัง 7 จังหวัดของเขต 4 เพื่อให้ขับเคลื่อนไปพร้อมกันอีกด้วย    

นางนวลจิรา จันระลักษณะ

นางนวลจิรา จันระลักษณะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นงานที่ท้าทาย เป็นงานที่ยากแต่เป็นไปได้ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล หลังจากได้รับนโยบายที่ชัดเจน อำเภอวิหารแดง มีเป้าหมายขั้นต่ำ 4,000 กว่าคน มีผู้เข้าสู่การบำบัดแล้ว  3,400 กว่าคน กระบวนการติดอาวุธ คือ การใช้คู่มือการทำงานคนเลิกบุหรี่ ที่อธิบายขั้นตอนการทำงานไว้อย่างชัดเจน ถ่ายเอกสารแจกทุก รพ.สต.  ใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ ส่งต่อข้อมูล แนะทำตัวเป็นแบบอย่าง สร้างกระแสต่อเนื่อง สร้างความเข้าใจในการทำงาน ชี้ให้เห็นความสำคัญของการบันทึกข้อมูลในระบบ จึงทำให้ตัวเลขผู้บำบัดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มพูนศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข   ให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ก่อน เป็นแบบอย่างก่อนที่จะไปถ่ายทอดสู่ อสม.และประชาชน  

ทั้งนี้ในพื้นที่จะไม่เน้นให้ใช้ยาเลิกบุหรี่กับผู้สูบ แต่จะแนะให้ผู้สูบ ตระหนักและเห็นถึงพิษภัยบุหรี่ รวมถึงแนะให้ใช้สมุนไพรหรือการหักดิบด้วยตนเอง ส่วนการทำงานในระดับพื้นที่ จะเน้นเชื่อมโยงเครือข่ายที่หลากหลาย เช่น ครู นักเรียน อสม. ชุมชน ร้านค้า บริษัทเอกชนฯ สอดแทรกเนื้อหาและชวนคนเลิกบุหรี่ในทุกเวที บอกถึงความสำคัญของโครงการว่าเป็นโครงการเพื่อเทิดพระเกียรติ เป็นการร่วมทำความดี ร่วมกัน   

นางนวลจิรา กล่าวต่อว่า นโยบายผู้บริหารระดับจังหวัดและอำเภอต้องชัดเจน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เห็นความสำคัญของการทำงาน รวมถึงบูรณาการการทำงาน คือ การทำงานร่วมกันระหว่างผู้รับผิดชอบงาน อสม.ของ สสจ. ผู้รับผิดชอบงานยาเสพติด งาน NCD และงาน IT หากหน่วยงานเหล่านี้ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ ก็จะส่งผลให้การทำงานบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น