ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยายอายุ 85 สู้ขอเข้า "กองทุนคืนสิทธิสาธารณสุข" ไม่สำเร็จ สุดท้ายซื้อประกันสุขภาพคนต่างด้าวตัดปัญหากวนใจ

นางบ๊วยตา แซ่บ่าง

นางบ๊วยตา แซ่บ่าง อายุ 85 ปี ชาว อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เป็นชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่จนปัจจุบันนี้ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยในช่วงเริ่มต้นที่มีการก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นางบ๊วยตาเคยได้สิทธิเช่นเดียวกับคนไทยคนอื่นๆ แต่ต่อมาได้มีการตีความตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ว่าเป็นกองทุนที่ดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้นางบ๊วยตาถูกถอดออกจากสิทธิเช่นเดียวกับกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะ กลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกกว่า 6 แสนคนในขณะนั้น และแม้ต่อมาบุตรีของนางบ๊วยตาจะพยายามขอสิทธิการรักษาพยาบาลกับกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรี 23 มี.ค. 2553 หรือกองทุนคืนสิทธิ แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ และท้ายที่สุดต้องซื้อประกันสุขภาพคนต่างด้าวเพื่อให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลแทน

น.ส.พรทิพย์ หวังหิรัญโชติ อายุ 45 ปี บุตรีของนางบ๊วยตา กล่าวถึงรายละเอียดว่า มารดาตนเดินทางเข้าประเทศไทยมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่กว่าจะดำเนินการจัดทำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับคนต่างด้าวก็หลังจากนั้นประมาณ 10 กว่าปี ดังนั้น อายุตามเอกสารราชการจึงมีอายุ 70 ปี แต่อายุจริงๆ คือ 85 ปี ส่วนการเอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านนั้น มารดามีชื่อในทะเบียนบ้านปี 2524

น.ส.พรทิพย์ กล่าวว่า ในช่วงแรกที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มารดาตนได้สิทธิบัตรทองโดยขึ้นทะเบียนสิทธิที่โรงพยาบาลไทรน้อย จ.นนทบุรี แต่เนื่องจากไม่ค่อยมีอาการเจ็บป่วยหรือมีก็เป็นการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆที่ สามารถรักษาเองได้ ดังนั้นจึงไม่ค่อยได้ไปที่โรงพยาบาล และไม่ทราบว่าสิทธิบัตรทองถูกยึดคืนไปตอนไหน จนกระทั่งปี 2556-2557 มารดาเป็นโรคต้อกระจก จึงไปโรงพยาบาลไทรน้อยเพื่อทำเรื่องขอผ่าตัดตา แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตรวจสอบแล้วบอกว่าไม่มีสิทธิบัตรทอง จึงเพิ่งทราบเอาตอนนั้นว่าถูกยึดสิทธิคืนไปแล้ว

เมื่อไม่มีสิทธิ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในขณะนั้นจึงแนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพคนต่างด้าวแทน ขณะนั้นตนก็ไม่คิดว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ขนาดนี้ จึงซื้อประกันให้แม่และซื้อต่อเนื่องมาอีก 2 ปี จนกระทั่งปี 2559-2560 จะไปต่ออายุประกัน แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบอกว่ายังไม่ต้องซื้อ เพราะจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงสาธารณสุขขอให้คืนสิทธิให้แล้วจะมีคนติดต่อกลับเพื่อแจ้งผล ดังนั้นตนจึงไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพคนต่างด้าวให้มารดาอีก และหลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตไปตามปกติโดยไม่ได้นึกถึงเรื่องดังกล่าว และไม่มีการติดต่อกลับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใด

กระทั่งเดือน ต.ค. 2561 มารดาเริ่มมีอาการขาบวม ท้องแข็ง จึงคิดพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ในตอนนั้นจึงนึกขึ้นได้ว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไทรน้อยเคยบอกว่าจะทำเรื่องขอคืนสิทธิให้ จึงได้เข้าเว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อตรวจสอบดู ปรากฎว่าในหน้าจอระบุว่าเป็นบุคคลผู้มีปัญหาสถานะทางสิทธิ จึงโทรไปสอบถาม สปสช.ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็แนะนำให้ติดต่อไปที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

"พอโทรติดต่อไปที่ สธ. เขาก็บอกให้ซื้อประกันอีก แต่เราสงสัยว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเคยบอกว่าจะทำเรื่องคืนสิทธิให้ แต่แล้วก็เงียบหายไป พอเป็นแบบนี้มาโยนให้เราซื้อประกันอีก ก็เลยงงว่าที่บอกว่าจะคืน ทำไมไม่ได้คืน และไม่ได้คืนเพราะอะไร พอเช็คกับโรงพยาบาลไทรน้อยปรากฎว่าเจ้าหน้าที่คนที่เคยบอกว่าจะทำเรื่องคืนสิทธิให้ก็ได้ลาออกไปแล้ว" น.ส.พรทิพย์ กล่าว

น.ส.พรทิพย์ กล่าวว่า เมื่อได้รับคำตอบเช่นนี้ จึงกลับมานั่งหาข้อมูลเรื่องการคืนสิทธิ ดูเงื่อนไขต่างๆ ก็พบว่ามารดาตนน่าจะเข้าเงื่อนไขมีมีบัตรประจำตัวบุคคลเป็นเลข 3 เป็นบุคคลที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งมีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527

"พอดูเงื่อนไขการคืนสิทธิที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ก็พบว่าแม่เราก็เข้าเงื่อนไขนี่นา เลขทะเบียนบัตรของแม่ก็ขึ้นต้นด้วยเลย 3 แล้วทำไมไม่ได้คืน เลยโทรเข้ากระทรวงอีก เขาก็บอกให้ซื้อประกันอย่างเดียว ไม่ว่าโทรเจอเจ้าหน้าที่คนไหนก็พูดแบบนี้ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเจ้าหน้าที่ควรให้คำตอบที่ชัดเจนว่าเพราะอะไรแม่เราถึงไม่ได้คืนสิทธิ" น.ส.พรทิพย์ กล่าว

หลังจากนั้น พรทิพย์ยังได้โทรสอบถามข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และได้รับคำแนะนำว่าให้ดูว่ามารดาตนเข้ามาอยู่ในเมืองไทยปีอะไร จึงได้เดินทางไปที่กรมการปกครอง วังไชยยา เพื่อขอคัดสำเนา โดยพบว่ามารดาเดินทางเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2499 และมีชื่อในทะเบียนบ้านในปี 2524 ซึ่งก็เข้าเงื่อนไขการคืนสิทธิเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกเงื่อนไขที่ระบุว่า บุคคลเลข 3 และเลข 4 ต้องมีหลักฐานซึ่งระบุว่าเป็นบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองนอกกำหนดจำนวนคนต่างด้าวประเภทไร้สัญชาติ (นอกโควต้า) ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง 2522 หรือมีสัญชาติระบุว่าเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในเอกสารคนต่างด้าวของมารดานั้นไม่ได้ประทับคำว่า "นอกโควต้า" เอาไว้

"เจ้าหน้าที่กรมการปกครองให้คำอธิบายว่าเอกสารต่างด้าวของคุณแม่ไม่มีคำว่านอกโควต้า ดิฉันก็บอกว่าอันนี้ไม่รู้เพราะแม่เข้าเมืองไทยมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เลยขอคำแนะนำว่าจะขอสัญชาติไทยให้มารดาได้หรือไม่ ก็ไม่ได้อีก ตอนนั้นมีคุณหมอคนหนึ่งแนะนำว่าลองทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครองว่าเรามีกรณีแบบนี้ ปรากฎว่าท่านก็รับเรื่องและให้เจ้าหน้าที่ดูข้อกฎหมายให้ แต่หนังสือที่ตอบกลับมาบอกเพียงว่าการจะได้สิทธิต้องขึ้นกับ สธ.พิจารณา ตอบมาแค่นั้น" น.ส.พรทิพย์ กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.พรทิพย์ ยังได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ส่งให้กับสื่อมวลชน และหลังจากที่มีข่าวออกสื่อแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่จาก สธ.โทรกลับมาอีก แต่ยังพูดคำเดิมว่าต้องซื้อประกันสุขภาพคนต่างด้าวและไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่ม ตนจึงซักถามไปว่าจะให้จ่ายเงินก็ยอมจ่าย แต่ทำไมไม่อธิบายว่าเหตุผลที่ไม่ได้คืนสิทธิว่าเป็นเพราะอะไร ตอบได้หรือไม่ว่าทำไมต้องจ่าย ตนซักถามจนเจ้าหน้าที่เริ่มมีอารมณ์

"หลังจากนั้นเขาก็ให้เบอร์มือถือส่วนตัวมา แต่เราโทรไปเขาก็ไม่รับ ก็เลยโทรไปเบอร์กลางอีก เจ้าหน้าที่อีกคนก็บอกว่าให้ซื้อประกัน ประจวบกับตอนนั้นเจ้าหน้าที่คนที่ให้เบอร์มือถือส่วนตัวเดินเข้ามา เราได้ยินเสียงเขาพูดว่าไม่มีสิทธิแล้วไม่อยากจ่ายเงิน แถมท้าให้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร วันต่อมาดิฉันก็เลยไปที่กระทรวงสาธารณสุข ยื่นหนังสือไปถึงผู้อำนวยการ แต่ตอนนั้นผู้อำนวยการไม่อยู่ เจอแต่รองผู้อำนวยการซึ่งเขาก็บอกว่าขอเวลาปรึกษากับฝ่ายกฎหมายก่อน" น.ส.พรทิพย์ กล่าว

จนกระทั่งผ่านไปสัปดาห์หนึ่ง ในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2561 รองผู้อำนวยการก็ให้คำตอบก็บอกว่าไม่สามารถคืนสิทธิให้ได้ คำอธิบายคือในเอกสารคนต่างด้าวของมารดาไม่มีคำว่า "นอกโควต้า" จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ ไม่ได้สิทธิจากกองทุนคืนสิทธิ ต้องซื้อประกันสุขภาพคนต่างด้าว 2,800 บาท อย่างไรก็ดี รองผู้อำนวยการได้สอบถามว่าอยากไปซื้อประกันที่โรงพยาบาลไหน ทาง สธ.จะช่วยประสานงานให้ ในตอนแรกตนคิดจะพาแม่ไปซื้อประกันที่โรงพยาบาลวชิระ แต่สุดท้ายรองผู้อำนวยการก็โทรกลับมา กลายเป็นว่าให้ไปซื้อประกันที่โรงพยาบาลไทรน้อยตามเดิม

"ระหว่างที่รอการพูดคุยหารือกัน อาการป่วยของแม่ก็มีขาบวม ท้องแข็งขึ้นเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าแม่เป็นอะไร ดังนั้นเพื่อตัดปัญหากวนใจ สุดท้ายจึงตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพคนต่างด้าว พอซื้อประกันเสร็จแล้วได้รับการตรวจจากแพทย์ แพทย์บอกว่าเป็นโรคหัวใจรั่ว ครั้งแรกที่ไปหมอก็แอดมิทให้เลือดเลย 2 ถุง นอนโรงพยาบาลอีก 4 วัน" น.ส.พรทิพย์ กล่าว

น.ส.พรทิพย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากผ่านประสบการณ์ครั้งนี้มีความรู้สึกว่ามารดาตนอยู่ในประเทศไทย ถือหนังสือคนต่างด้าวที่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามปกติ มีหมายเลขบัตรประชาชน แต่เพราะไม่มีคำว่า "นอกโควต้า" เพียงคำเดียวจึงไม่ได้สิทธิ และถ้าจะสู้ต่อไปคงต้องไปร้องเรียนถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร้องศาลปกครอง ซึ่งตนก็ไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น

"สุดท้ายเลยคิดว่าช่างมันเถอะ มารดาก็อายุมากแล้ว ซื้อประกันปีละ 2,800 บาท ถ้ามารดามีชีวิตอยู่อีก 10 ปี ก็เป็นเงิน 28,000 บาท ยังอยู่ในวิสัยที่พอจ่ายได้" น.ส.พรทิพย์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง