ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนะบุคลากรสาธารณสุข - อสม.ภาคใต้ ทำงานแบบเข้าถึง เข้าใจ และใช้ศาสนบำบัด ชี้วิถีชีวิตค่านิยมที่แตกต่าง ส่งผลคนใต้สูบบุหรี่สูง เร่งหาทางแก้ไข ดึงผู้เชี่ยวชาญเสริมพลังช่วยคนเลิกบุหรี่

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.62 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี - ในการประชุมติดตามสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 3 จัดโดยสมาคมหมออนามัย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัยและภาคีเครือข่าย โดยมี นายแพทย์พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เป็นประธาน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แกนนำสาธารณสุขอำเภอ และผู้รับผิดชอบงานระดับจังหวัดเขตสุขภาพที่ 11และ เขต 12 ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงาน

นายแพทย์พิทักษ์พล บุณยมาลิก

นายแพทย์พิทักษ์พล เปิดเผยถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ ในเขต 11 และ เขต 12 ว่า ในพื้นที่ภาคใต้จะมีปริมาณการสูบบุหรี่ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นของประเทศไทย เนื่องด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นจึงได้ให้นโยบายเร่งป้องกันนักสูบหน้าใหม่ จัดการกลุ่มเสี่ยง ชักชวนคนเลิกสูบบุหรี่ให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาผลงานเขตดีในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเข้าใกล้โค้งสุดท้ายก็ต้องพยายามทำให้เต็มที่ที่สุด ต้องช่วยกันเสริมพลังทุกด้าน โดยเฉพาะเสริมพลังแก่ อสม. ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งการทำงานในพื้นที่ภาคใต้จะมีความแตกต่างด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย บริบทที่แตกต่าง มีการสูบบุหรี่ค่อนข้างมาก คนทำงานจึงต้องเข้าถึง เข้าใจและชวนให้เลิกสูบบุหรี่ให้ได้ เมื่อติดแล้วเลิกยาก

ดังนั้นการที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงสำคัญ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจาก สสจ. สสอ. รพ.สต. รวมถึง อสม.ที่ใกล้ชิดประชาชนมากสุด สามารถที่จะปรึกษาได้ นอกจากนี้ยังมีคลินิกเลิกบุหรี่ คอยช่วยเหลือหลายแห่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก หากเรียนรู้และเข้าใจเทคนิคก็จะสามารถทำได้

นางรุสณี มะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานภายใต้ภารกิจหลายระดับ เช่น จังหวัดปลอดบุหรี่ คลินิกฟ้าใส และโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยระดับชุมชนที่มีผลงานเด่นชวนคนเลิกบุหรี่ได้จำนวนมาก ซึ่งใช้โปรแกรมช่วยเลิกบุหรี่ หรือที่เรียกว่า “ชีฟะฮ์โมเดล” คือ ชุมชนบ้านเจ๊ะเก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่สีแดง ใช้หลักการศาสนามาช่วยเลิกบุหรี่ หรือศาสนบำบัด เกิดแนวคิดโดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ร่วมกับผู้นำศาสนา โดยกิจกรรม มี 5 วัน โดย 3 วันแรก จะเป็นการละลายความคิดและพฤติกรรม อีก 4 วัน กล่อมเกลาจิตใจ หลังหลังครบ 7 วัน จะให้ อสม.ออกติดตาม เน้นการหักดิบ ไม่มียาช่วยเลิก ใช้จิตใจที่เข้มแข็งอย่างเดียว คนเข้าร่วมโครงการ 30 คน เลิกได้สำเร็จ 22 คนและมีการขยายรูปแบบไปยังพื้นที่ข้างเคียง

สำหรับสถานการณ์การบริโภคยาสูบของจังหวัด ภาพรวมตามสถิติแห่งชาติ ปี 58 บริโภคยาสูบ ใน 100 คน สูบ 27 คน ตอนนี้ลดลงเหลือ 20 คน และในโครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ ที่มีการคีย์ตัวเลขในระบบ 43 แฟ้ม ได้มีการคัดกรองตามสถิติแห่งชาติประชากร อายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่อยู่ประมาณ 1 แสน 3 หมื่นคน ทางโครงการได้ทำการคัดกรอง 50,000 กว่าคน สามารถลด ละเลิก ในระเวลา 6 เดือน 1,000 กว่าคน จะเห็นว่าการทำงานในพื้นที่ต้องบูรณาการ ทำร่วมกันทุกภาคส่วน ผู้นำชุมชน ศาสนา ท้องถิ่น ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนและใช้หลักศาสนาหนุนเสริม ให้ผู้นำศาสนาเป็นแบบอย่างของการเลิกสูบก็จะทำให้งานสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น

นางนิศาชล เส้งย่อง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอลำทับ จ.กระบี่ เปิดเผยว่า บุคลากรต้องเป็นต้นแบบ ต้องสร้างความตระหนักให้ชุมชน ซึ่งจุดเด่นของอ.ลำทับ คือการเข้าถึงชุมชน จากกลุ่มเป้าหมายของอำเภอ 17,000 กว่าคน ได้รับการคัดกรอง 8,000 กว่าคน หรือ ประมาณ 48 % พบคนไม่สูบ 6,000 กว่าคน มีคนสูบบุหรี่ จำนวน 1,600 กว่าคน และเข้ารับการบำบัด 1,500 กว่าคน คิดเป็นร้อยละ 91 % โดยใช้กลยุทธ์คือ แต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ มีภาคี แกนนำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ แกนนำ อสม.ร่วมดำเนินการ ประชุมวางแผน มอบหมาย อสม.1 คน ชวนคนเลิกร่วมและบำบัดให้ได้ 9 คน และในจำนวนนี้ต้องให้เลิกสูบอย่างน้อย 3 คน ติดตามลงพื้นที่ด้วยทีมสหวิชาชีพพร้อม อสม. ลงเยี่ยมบ้าน ออกตรวจเตือนประชาชนทุกตำบล ซึ่งได้แนะนำเทคนิคชวนเลิกแก่ อสม.คือ

1.เมื่อไปครั้งแรกจะไม่พูดชวนให้เลิกบุหรี่ในทันที 2.ใช้วิธีพูดคุยเรื่องทั่วไป เรื่องสุขภาพ จากนั้นค่อยโยงมาถึงพิษภัย สาเหตุการเกิดโรค 3.โน้มน้าวและชี้ให้เห็นถึงผลเสีย ผลกระทบ ค่าใช่จ่าย และโทษที่เกิดขึ้น 4.ไม่กดดันหรือบอกให้เลิกบุหรี่ในทันที เพราะจะเกิดแรงต้านและผู้สูบเมื่อปฏิเสธแล้วจะไม่เสียเวลามาคุยซ้ำ 5.ต้องติดตามต่อเนื่อง ไม่พูดเรื่องเดิม หรือรุกมากเกินไป ต้องสร้างความไว้วางใจ จนยอมเปิดใจรับฟังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนำไปสู่การ ลด ละเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด ​

นายสำราญ อนุกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นงานที่ท้าทายและค่อนข้างยาก ซึ่งภาคใต้ด้วยวิถีชีวิตชุมชนที่สูบกันมานาน การที่จะไปชวนเลิก ปรับเปลี่ยนก็ทำได้ยาก จึงใช้โอกาสการประชุมประจำเดือน สอดแทรกเรื่องบุหรี่ทุกวาระของจังหวัด เชิญตัวแทน รพ.สต.ร่วมประชุมทุกเดือน สอบถาม ติดตามความคืบหน้าต่อเนื่อง แต่ใช้วิธีพัฒนศักยภาพ อสม. ให้ความรู้ ความเข้าใจ และไปชักชวนให้เลิก แม้ความคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมายยังอีกไกล แต่การทำให้คนตระหนัก ลด ละ เลิกได้สำเร็จ แม้เพียง 1 คน ก็ภูมิใจแล้ว