ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ลดความแออัดโรงพยาบาลใหญ่ โดยการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ จัดสรรงบประมาณ 563 ล้านบาท พัฒนา รพ.สต.ขนาดใหญ่ 1,087 แห่ง บริการประชาชนในพื้นที่ ลดการเดินทาง กำชับการใช้งบฯอย่างโปร่งใส ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายลดความแออัดของผู้รับบริการในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยการเพิ่มศักยภาพระบบบริการปฐมภูมิ ให้ประชาชนได้รับบริการในพื้นที่ ในปีงบประมาณ 2562 ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 563 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดใหญ่ จำนวน 1,087 แห่ง ปรับระบบบริการที่จำเป็นและเพียงพอสำหรับระบบบริการปฐมภูมิ อาทิ การดูแลคุณภาพแม่และเด็ก การฝากครรภ์ การตรวจรักษาทางการแพทย์ บริการครอบคลุมทุกมิติ มีมาตรฐานที่สูงขึ้น เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทที่เป็นสังคมเมืองเพิ่มมากขึ้น ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ใกล้บ้าน สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องเดินทางเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่อยู่ไกล

“เนื่องจากเป็นงบกลางฉุกเฉิน ปี 2561 จึงต้องดำเนินการจัดซื้อให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม ปี 2562 ขอให้ผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เร่งรัดและควบคุมกำกับการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานได้ประโยชน์สูงสุด โดยได้ตั้งคณะกรมการตรวจติดตามการใช้งบประมาณฯ มอบหมายให้นายแพทย์สมควร หาญพัฒนชัยกูร หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข เป็นประธาน ร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวง สาธารณสุขนิเทศก์ทุกเขต และผู้อำนวยการกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข ติดตามกำกับ หากมีปัญหาขอให้สอบถามมาที่ส่วนกลาง” นพ.สุขุมกล่าว

ทังนี้ แผนการพัฒนาระบบบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดใหญ่ จะมีการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย เครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขนอัตโนมัติ เครื่องปั่นฮีมาโตคริต เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อขนาดใหญ่ (Autoclave) เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ (Doptone) เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter) ชนิดพกพา เครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 8 ลิตร เครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับประมวลผล นอกจากนี้ ได้จัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ตามความขาดแคลนสำหรับรพ.สต.ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ยูนิตทำฟัน จำนวน 47 แห่ง และเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด 12 ลีด พร้อมระบบแปรผลอัตโนมัติ (EKG) จำนวน 72 แห่ง รวมทั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) จำนวน 297 แห่ง