ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การแก้ปัญหาคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในระยะที่ผ่านมาส่วนมากเป็นการแก้ปัญหาแบบ Case by case มากกว่าจะเป็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบจากภาครัฐ ทำให้ยังมีคนไทยที่ไร้บัตรประชาชนอีกจำนวนมากถูกละเลยอยู่ในชุมชนต่างๆทั่วประเทศ และเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

อย่างไรก็ดีในมุมมองของ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า แม้การจัดการอย่างเป็นระบบจะยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังขับเคลื่อนไปข้างหน้าและยังมีความหวังที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างแน่นอน

อนรรฆ รีวิวสภาพการณ์ของคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในปัจจุบันว่า ถ้ากล่าวในเชิงจำนวนประชากรยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนเท่าใดเนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการสำรวจอย่างจริงจัง เพราะกลุ่มที่มีปัญหาทางสถานะส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชน ชุมชนละ 1-2 คนบ้าง ชุมชนละครอบครัวบ้าง หลายพื้นที่ที่ตนลงไปทำงานภาคสนามยังพบว่าผู้นำชุมชนไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีคนที่มีคนที่มีปัญหาทางสถานะเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพอาศัยอยู่ในชุมชนด้วย คนกลุ่มนี้จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรัง ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม มีการประเมินไว้ว่าคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือไม่มีบัตรประชาชนน่าจะมีจำนวนหลายหมื่นหรือถึงหลักแสนคน

สำหรับประเด็นปัญหาที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญนั้น จากข้อมูลของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่ามีคนไร้ที่พึ่งที่มีปัญหาเรื่องสถานะกว่า 25-30% ของทั้งหมด และจากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาในชุมชนต่างๆ 23 จังหวัด พบว่าผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนส่วนใหญ่มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดี และเมื่อไม่มีสถานะทางทะเบียนก็เป็นรากของปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งผลให้ความเจ็บป่วยไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่ต้น จะเข้าสู่ระบบการรักษาก็เมื่อป่วยหนักไปแล้ว

"ปัญหาต่อมาคือเราพบว่าหน่วยบริการสาธารณสุขทั้งหลายต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องกลุ่มนี้ คือหน่วยบริการก็มีใจช่วยเหลือ แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสถานะ ทำให้หน่วยบริการต้องแบกรักภาระค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร คิดว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็เห็นปัญหาตรงนี้อยู่แต่อาจยังไม่เห็นภาพรวมว่าแบกภาระอยู่เท่าไหร่ เช่นเดียวกับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของ พม. ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเช่นกันเพราะมีคนไร้ที่พึ่งซึ่งมีปัญหาสถานะกว่า 30% ที่เข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ"นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา กล่าว

ในส่วนของการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบนั้น ที่ผ่านมาทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงระบบกรณีคนไทยตกหล่น เพื่อศึกษารวบรวมสถานการณ์ปัญหาว่ามีอะไรและจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง โดยคณะทำงานชุดนี้ดำเนินการมาประมาณ 1 ปีกว่าๆ และเสนอข้อมูลเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช.ไปเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 เพื่อรายงานสภาพปัญหาให้คณะกรรมการได้รับรู้ ซึ่งทางบอร์ด สปสช. ก็ได้มติให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะทำงานที่บูรณาการภาคส่วนต่างๆเข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยช่วงปลายเดือน มี.ค. หรือ เดือน เม.ย. น่าจะมีการประชุมคณะทำงานชุดที่มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเป็นครั้งแรก

"ปัญหาการเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาทางสถานะอาจจะเป็นภาระหน้าที่ของหลายหน่วยร่วมกัน เช่น เรื่องทางทะเบียนอาจต้องเป็นของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นถึงทำให้กลุ่มคนที่น่าจะพอพิสูจน์สถานะได้แต่ยังไม่ได้รับสถานะสักที หรือในแง่ สธ.ที่เป็นผู้รับภาระค่าบริการก็ต้องดูว่าตกลงแล้วภาระที่แบกรับอยู่นี้มีเท่าไหร่เพื่อจะได้พัฒนานโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในแง่งบประมาณ ขณะที่ สปสช. อาจดูว่ามีอะไรที่ช่วยหนุนเสริมหรือขับเคลื่อนต่อไปได้ หรือมีช่องทางใดในการทำให้เกิดความครอบคลุมของระบบหลักประกันสุขภาพ นี่ก็เป็นภาพรวมที่เกิดขึ้นเพื่อดูว่าการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่งแต่ต้องใช้การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน"อนรรฆ กล่าว

อนรรฆ กล่าวอีกว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนตอนนี้คือทุกหน่วยงานเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมกัน แต่ด้วยอำนาจหน้าที่และกลไกทางกฎหมายต่างๆทำให้แต่ละหน่วยงานไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองทั้งระบบจึงต้องมีแพล็ตฟอร์มกลางขึ้นมา หากถามว่าคณะทำงานชุดนี้เป็นความหวังหรือไม่ คงตอบได้ว่ามีความหวังตรงที่ทุกคนเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกัน และมีเป้าหมายที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา แม้การดำเนินการอาจประสบกับข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ แต่ก็มีการเคลื่อนไปข้างหน้าตลอดเวลา ทั้งนี้อาจต้องมีการแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในระยะยาวอาจต้องมีการดีไซน์ระบบบริการสุขภาพหรือระบบสวัสดิการใหม่ แต่ระยะสั้นและระยะกลางน่าจะเป็นการทำงานบนพื้นฐานของกลไกที่มีอยู่ โดยพิจารณาว่าประเด็นใดอยู่ในขอบเขตที่พอปลดล็อกได้หรือมีช่องทางตามที่กฎหมายวางไว้ เช่น เช่นเรื่องการรักษาพยาบาลเป็นที่รอไม่ได้ ปัจจุบันแต่ละโรงพยาบาลมีกองทุนสังคมสงเคราะห์อยู่ แต่เป็นการแก้ไขที่ไม่ยั่งยืน ในแง่การดีไซน์อาจต้องมาคุยกันอีกทีว่าจะดีไซน์อย่างไร ให้ประชาชนที่ตกหล่นเหล่านี้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพและบริการทางสุขภาพ โดยที่หน่วยบริการไม่ต้องแบกรับภาระทางงบประมาณ เช่น ถ้าไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ก็อาจต้องไปดูว่ากองทุนคืนสิทธิที่อยู่กับ สธ. มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความครอบคลุมให้คนกลุ่มนี้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องตั้งกองทุนหรือกลไกเฉพาะขึ้นมา เป็นต้น

"ทุกคนเห็น Goal ร่วมกันว่าจะต้องมาแก้ปัญหานี้ อย่างน้อยต้องทำให้คนไทยเหล่านี้เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพไม่ว่าจะผ่านกลไกหรือกองทุนใดกองทุนหนึ่ง ในคณะทำงานเราคุยถึงขั้นว่าอาจต้องมีการตั้งจุดจัดการอะไรขึ้นมาหรือไม่ เป็นจุดจัดการที่ต้องใช้การบูรณาการเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นไอเดียหนึ่ง แต่เบื้องต้นต้องรอการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่บูรณาการกันก่อน ตอนนี้ยังไม่ได้มีการคุยกันอย่างชัดเจนระหว่างหน่วยงานเพราะฉะนั้นก็ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นโซลูชั่นไหนที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด แต่เรามองทุกความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น ถือว่ามีความหวังเพราะทุกฝ่ายเห็นแล้วว่าเป็นปัญหาร่วมกัน และพร้อมที่จะเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา เป็นพื้นฐานที่จะแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น"อนรรฆ กล่าวทิ้งท้าย