ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

7 รางวัล ใน 2 ปี คือความสำเร็จของคลินิกทันตกรรมของ รพ.รัฐทุกแห่งใน จ.บุรีรัมย์ ที่พัฒนาการให้บริการจนสามารถข้ามผ่านเกณฑ์สถานพยาบาลที่ผ่านกระบวนการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยทางทันตกรรม Thai Dental Clinic Accreditation หรือ (TDCA)

นั่นหมายถึงความมั่นใจของผู้ให้บริการ และความเชื่อมั่นของผู้เข้ารับบริการ

แน่นอนเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หากแต่ล้วนต้องมีอิฐก้อนแรกในการวางรากฐาน และต้องมีอิฐก้อนต่อๆ ไปเรียงต่อไปสู่ปลายยอด

การบรรยายเรื่อง “ก้าวต่อไปกับจังหวัด TDCA (บุรีรัมย์ โมเดล)” ซึ่งจัดขึ้นโดยทันตแพทยสภา และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ช่วยอธิบายเรื่องราวทั้งหมดได้เป็นอย่างดี

 

ทพญ.กัญญ์วราฑ์ สิริไชยธยากุล และ ทพ.จีรศักดิ์ ทิพย์สุนทรชัย

ทพ.จีรศักดิ์ ทิพย์สุนทรชัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะอดีตกรรมการทันตแพทยสภา 2 สมัย เล่าว่า ตลอดการดำรงตำแหน่งมีโอกาสได้ร่วมประชุมเกี่ยวกับคดีทางจรรยาบรรณแพทย์ค่อนข้างมาก และทุกครั้งที่มีคดีที่ร้ายแรงก็มักจะนำไปเล่าต่อให้น้องๆ ฟัง จนกระทั่งทุกคนเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องทำ TDCA แล้ว

“นี่คือมาตรฐานของวิชาชีพ นี่คือศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ” ทพ.จีรศักดิ์ พูดชัด

เขา เล่าต่อไปว่า เมื่อปี 2558 เขาดำรงตำแหน่งรองเลขาทันตแพทยสภา โดยการขับเคลื่อนเรื่อง TDCA นั้นต้องนับหนึ่งจากงานในจังหวัด โดยมีหลักสำคัญคือต้องมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นแกนหลัก เพราะถ้า สสจ.ไม่ขยับก็จะไม่มีทางไปต่อได้

“ผมจึงทำหน้าที่เป็นแกนประสาน ทำหนังสือเชิญชวนคลินิกต่างๆ และแจ้งที่ประชุมให้ทราบ ซึ่งหลังจากผมยกเคสตัวอย่างให้เห็น มีกรณีการถอนฟันแล้วเสียชีวิต หน่วยพยาบาลต่างๆ ก็เริ่มคล้อยตามและเข้าร่วมโครงการ ซึ่งแน่นอนว่าช่วงแรกๆ ก็มีเสียงต่อต้าน เพราะหน่วยพยาบาลมีมาตรฐาน HA อยู่แล้ว การทำมาตรฐาน TDCA จะถูกมองว่าเป็นงานที่งอกเพิ่ม

“จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดใหญ่ มีทั้งสิ้น 23 อำเภอ คำถามคือจะทำอย่างไรให้ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน เราก็เริ่มปรับมาตรฐานจากเกณฑ์หลักในปี 2015 คือถึงแม้ว่าทันตแพทยสภาจะกำหนดไว้ขนาดนี้ แต่เราจะเอาแค่นี้ก่อน และทุกโรงพยาบาลไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย คุณต้องส่งทันตแพทย์เข้ามาร่วมเป็นกรรมการเพื่อทำงานกับเรา หลังจากนั้นก็ทำข้อตกลงกัน

“การมานั่งทำงานร่วมกันจะทำให้เราเห็นว่ายังมีโรงพยาบาลอื่นที่ดีกว่าเรา จะทำให้เราปรับคุณภาพขึ้น ส่วนอะไรที่ดีอยู่แล้วก็จะทำให้เราภาคภูมิใจในการทำงานต่อไป จนกระทั่งในปี 2560 ที่เราทำการประเมินกันอย่างเต็มรูปแบบ จัด 3 ทีม เพื่อไปประเมิน 23 อำเภอ” ทพ.จีรศักดิ์ เล่าวิธีการดำเนินการเพื่อให้โรงพยาบาลเห็นความสำคัญและขานรับเกณฑ์มาตรฐาน TDCA

เขา ระบุอีกว่า ขณะนี้ยังได้ผลักดันให้นำเกณฑ์​ TDCA เข้าไปใส่ในเกณฑ์ประเมิน “รพ.สต.ติดดาว” รวมถึงนำเกณฑ์นี้เข้าไปใส่ในแผนงานระดับอำเภอด้วย

“ผมคิดว่าปัจจัยความสำเร็จแรกเลยคือการสร้างแรงจูงใจ คือทำอย่างไรที่จะจูงใจให้เขามาร่วมกระบวนการ ต่อมาคือการสร้างการมีส่วนร่วมในทุกพื้นที่ เวลามีการปรับเกณฑ์ สร้างข้อตกลงในการยอมรับเกณฑ์ ต้องนำทุกโรงพยาบาลมามีส่วนร่วม ถัดมาคือการกระตุ้นให้มีการประเมินอย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายคือเชื่อมโยงกับเกณฑ์คุณภาพ” ทพ.จีรศักดิ์ กล่าว

ทพญ.กัญญ์วราฑ์ สิริไชยธยากุล โรงพยาบาลนางรอง จ.บุรีรัมย์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวงสนทนาว่า หลังจากเรียนต่อจบก็ได้กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการประเมิน TDCA ระดับประเทศ ก็พบว่าโรงพยาบาลเปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งแวดล้อมดีขึ้น รู้สึกทำงานได้อย่างปลอดภัย ทำงานแล้วสบายใจ มั่นใจว่าหากเกิดอะไรขึ้นระบบการป้องกันของโรงพยาบาลดีอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลว่าปัญหาจะเกิดขึ้นจากสิ่งนั้นสิ่งนี้

ทพญ.กัญญ์วราฑ์ กล่าวต่อว่า หลังจากได้รับฟังคำอธิบายเรื่อง TDCA และได้รับฟังการทำงานของแต่ละพื้นที่ที่มีบริบทต่างกัน ทำให้ยิ่งเข้าใจและเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคของตัวเอง เรียกได้ว่านำวิธีการของโรงพยาบาลอื่นๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสม

“ในเวลาต่อมาดิฉันได้ย้ายมาอยู่โรงพยาบาลทั่วไป คือโรงพยาบาลนางรอง ปัญหาใหม่ก็คือเมื่อโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น คนไข้มากขึ้น ก็พบปัญหาเรื่องการบริหารทรัพยากร การเงิน การดึงงบประมาณบางส่วนมาทำงานคุณภาพยากขึ้น ตรงนี้ก็ต้องทำงานหนักขึ้น ต้องใช้วิธีการประสานความร่วมมือ ขอความร่วมมือ และการทำงานร่วมกัน” ทพญ.กัญญ์วราฑ์ บอกเล่าประสบการณ์ ซึ่งทั้งที่สุดโรงพยาบาลนางรองก็ผ่านมาตรฐาน TDCA ได้

สำหรับ TDCA ถือเป็น “เกณฑ์มาตรฐาน” ระดับสากล ที่ทันตแพทยสภาพัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการ โดยตลอดระยะเลา 7 ปีเศษ นับตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ริเริ่มใช้มาตรฐาน TDCA จนถึงขณะนี้พบว่าทั่วประเทศมีคลินิกทันตกรรมที่ผ่านการประเมินแล้ว 64 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 54 แห่ง และเอกชนอีก 10 แห่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง