ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอไทยเขียนบทความลงวารสารนานาชาติ เล่าเบื้องหลังช่วย "หมูป่า" ออกจากถ้ำหลวง ใช้ยาสลบกลุ่มเคตามีน เพื่อวางยาทั้ง 13 คน ให้สามารถปฏิบัติการลำเลียงคนไข้ออกมาได้ง่ายที่สุด เนื่องจากเคตามีน เป็นยาสลบที่สามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้ง่าย ย้ำที่ต้องระวังที่สุดคือภาวะ "อุณหภูมิร่างกายต่ำ"

วันที่ 3 เม.ย. วารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง Prehospital Care of the 13 Hypothermic, Anesthetized patients in the Thailand Cave Rescue หรือ "การดูแลก่อนถึงโรงพยาบาลของ 13 คนไข้อุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ และได้รับการวางยาสลบในปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำ" พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์, พล.ต.นพ.วุฒิไชย อิสระ, ผศ.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ และ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส ชาวออสเตรเลีย

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ และ ผศ.นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์

ที่น่าสนใจก็คือ บทความฉบับดังกล่าว ได้เล่าเบื้องหลังในการลำเลียง 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 8 – 10 ก.ค.61 อย่างละเอียดว่า ชุดดำน้ำที่ทั้งหมดใส่นั้นค่อนข้าง "หลวม" เนื่องจากไม่ได้มีการตัดแบบพอดีตัว ทำให้มีโอกาสที่จะทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ จากอุณหภูมิน้ำที่ต่ำกว่า 20 องศา

ภายหลังการลำเลียงคนไข้ออกมา ได้มีการนำแว่นกันแดดมาสวมให้คนไข้ เพื่อป้องกันดวงตา รวมถึงได้จัดทีมถอดชุด Wet Suits หรือชุดกันน้ำออกอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกัน "กระดูกคอ"

ทั้งนี้ จากการวัดอุณหภูมิร่างกายของเด็กคนที่ 2 มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ อยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิลดลงเหลือ 34.8 องศา ระหว่างเคลื่อนย้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ เข้าข่าย Hypothermia

หลังจากปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยออกจากถ้ำ 4 คนแรก ในวันที่ 8 ก.ค.61 ผ่านไป พบปัญหาว่า เด็กมีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ รวมถึงมีปัญหาเรื่องการจัดการทีมงานกู้ชีวิตทั้งหมด จึงปรับแผนให้ระวังถึงภาวะ Hypothermia มากขึ้น รวมถึงระมัดระวังระบบหายใจ และผลกระทบจากยา "เคตามีน" ซึ่งถูกใช้ในการวางยาสลบ

ขณะเดียวกัน ได้วางแผนการจัดการช่วยชีวิต ที่คำนึงถึงระบบทางเดินหายใจ การช่วยหายใจ การทำให้เลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ เสริมด้วยการจัดการภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ โดยวางแผนร่วมกันทั้ง วิสัญญีแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจและกุมารแพทย์

ทั้งนี้ ได้มีการวัดอุณหภูมิร่างกายคนไข้เป็นระยะ ระหว่างขนย้าย เพื่อระมัดระวังภาวะ Hypothermia

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ รองเลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ Hfocus ว่าเข้ามามีส่วนร่วมกับปฏิบัติการถ้ำหลวง ภายหลังสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร้องขอ "ผ้าห่มฟอยล์" จึงได้เดินทางลงพื้นที่ไปในปฏิบัติการกู้ภัยวันแรก

ทั้งนี้ รับทราบจากทีมแพทย์แล้วว่า มีการใช้ยาสลบกลุ่มเคตามีน เพื่อวางยาทั้ง 13 คน ให้สามารถปฏิบัติการลำเลียงคนไข้ออกมาได้ง่ายที่สุด เนื่องจากเคตามีน เป็นยาสลบที่สามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้น มีการระดมเคตามีนจากทั่วประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าหายาก เพราะในขั้นตอนการลำเลียงออกมา ต้องใช้เคตามีนในปริมาณค่อนข้างเยอะ และในทางการแพทย์ มีการใช้ไม่มาก

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ กล่าวอีกว่า หลังจากปฏิบัติการกู้ชีวิตวันแรกผ่านไป พบว่ามีความวุ่นวายในการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามด้านหน้าถ้ำหลวงพอสมควร

เนื่องจาก 1.พบว่า 4 คนแรก มีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ และ 2.มีผลข้างเคียงจากการใช้เคตามีน ทำให้คนไข้บางคนมีอาการสั่น ซึ่งอาจทำลายระบบเมตาบอลิซึม รวมถึงระบบประสาทได้

"ต้องเข้าใจว่าในไทย มีการเตรียมการสำหรับภาวะ Hypothermia ไม่มากนัก เพราะน้ำทะเลบ้านเราไม่ได้เย็น ส่วนใหญ่ทั้งทหาร และหมอทหาร จะคุ้นชินกับอาการฮีทสโตรก จากอากาศร้อนจัดมากกว่า จึงเป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับพวกเรา" พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ระบุ

ด้วยความที่เป็นวิสัญญีแพทย์ และคณะกรรมการ Quality Management ของโรงพยาบาล จึงนำระบบคุณภาพมาปรับใช้กับภารกิจจนสำเร็จ และสามารถนำข้อมูลในภารกิจมาวิเคราะห์เพื่อถอดบทเรียนจนได้รับการตีพิมพ์  

"สุดท้าย เราใช้การบริหารจัดการที่เราเรียนรู้จากบำรุงราษฏร์ คือจัดลำดับความสำคัญของแพทย์ ที่มีอยู่กว่า 50 คน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ มากกว่า 100 คน, การประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ รวมถึงเขียนขั้นตอนการจัดการเชิงคุณภาพอย่างละเอียด"

"แต่การจัดการกลับง่ายกว่าที่คิด เพราะส่วนใหญ่เป็นหมอทหาร ซึ่งจบจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าด้วยกัน เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่ง ก็จบ ทุกคนก็พร้อมทำตาม ทำให้ไม่พบปัญหามากนัก" พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ เล่าให้ฟัง

วันที่ 2 ของการกู้ชีวิต ได้มีการปรับแผนมากขึ้น ด้วยการเพิ่มขั้นตอนการวัดอุณหภูมิร่างกายของทีมหมูป่า โดยนักดำน้ำนำปรอทไปวัดในทุกจุดที่สามารถวัดได้ทุกๆ 5 นาที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

เพราะน้ำที่เย็นเฉียบ และระยะดำน้ำรวมทั้งหมดเกือบ 6 ชั่วโมง อาจเป็นอันตรายกับ "ทีมหมูป่า" ได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

นอกจากนี้ เมื่อนำคนไข้ออกมาจากถ้ำ ถึงโรงพยาบาลสนามแล้ว หลังจากถอดชุดกันน้ำออก ได้มีการนำ "ไดร์เป่าผม" มาใช้เพื่อให้ความร้อนของร่างกายมากขึ้น

"มีการซ้อมแผนกันอย่างต่อเนื่องในช่วงเช้า ว่าถ้านำเด็กออกมา บุคลากรแต่ละคน จะมีหน้าที่อะไรบ้าง ที่น่าสนใจก็คือขั้นตอนการถอดชุดกันน้ำนั้น เหมือนกับการ 'เข้าพิท' ของรถฟอร์มูล่าวัน เลยทีเดียว เพราะใช้เวลาไม่ถึงนาที ในการเปลี่ยนชุด" พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์กล่าว

ส่วนวันสุดท้ายของภารกิจค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากโรงพยาบาลสนาม ไม่ได้เตรียมไว้สำหรับการนำคนไข้ออกมาพร้อมกันในจำนวนมากๆ ในครั้งเดียว แต่เมื่อได้รับแจ้งจากนักดำน้ำว่า จะมีการนำเด็กและโค้ชออกมาพร้อมกันทีเดียว 5 คน ทำให้ต้องขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่ม รวมถึงจัดบุคลากรในสเกลเดียวกับการเกิด "อุบัติเหตุหมู่" แต่การเตรียมความพร้อม และการจัดระบบก็ทำให้สามารถรองรับกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย และไม่สามารถจัดการได้สำเร็จเพียงคนเดียว หากไม่มีนักดำน้ำระดับโลก ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่าง นพ.แฮร์ริส ไม่มีทีมหน่วยซีล และการจัดการที่เป็นระบบทั้งพลเรือน ทหาร ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน พระราชกระแสรับสั่งของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้จัดระบบการทำงาน ก็มีส่วนช่วยอย่างมาก ที่ทำให้ทีมแพทย์หน้าถ้ำ ทำงานได้ง่ายขึ้น

วันที่ 4 เม.ย.62 หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจอลีสไทม์ สัมภาษณ์ นพ.โรเบิร์ต แกลตเลอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ระบุว่า ผู้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทั้งหมดควรได้รับความชื่นชม เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายในการนำคนไข้ออกมาในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และท้าทายขนาดนี้

ขณะที่ นพ.เจฟฟรีย์ แอพเฟลบอม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญีวิทยา ระบุในลอสแอนเจอลีสไทม์เช่นเดียวกันว่า ทักษะทั้งหมดที่ใช้ในปฏิบัติการกู้ภัยเป็นเรื่อง "เหลือเชื่อ" มากที่สามารถนำทั้ง 13 คนออกมาได้อย่างปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์ที่เสี่ยงภัย และอาจเกิดโศกนาฏกรรมได้ทุกเมื่อ

ขอบคุณภาพจาก bbc