ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุม NCITHS แนะไทยควรพิจารณาให้รอบคอบและเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมเส้นทางสายไหมจีนเพราะมีความท้าทายด้านสุขภาพหลายด้าน เตือนต้องระวังกับดักหนี้ พร้อมเผยเตรียมชงนโยบายสิทธิบัตร Thailand 4.0 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ เชื่อเกิดผลดีต่อประเทศ ด้านภาคประชาชนแนะควรใช้งานวิจัยนี้ไปใช้ประกอบการปรับร่างกฎหมายสิทธิบัตร

ปัจจุบันประเทศไทยต้องข้องเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศและกติกาต่างๆ ในระดับสากล ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยโดยรวม คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Commission on International Trade and Health Studies: NCITHS) จึงได้จัดประชุมครั้งแรกของปี 2562 ขึ้นในวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมสานใจ 2 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยมี ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา เป็นประธาน

ในที่ประชุมได้นำเสนอ ‘ข้อสรุปและข้อเสนอแนะจากการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพปี 2561 เรื่องเส้นทางสายไหมของจีน: โอกาสและความท้าทายต่อสุขภาพ’ จากคณะอนุกรรมการจัดการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ซึ่งเป็นการรวบรวมประเด็นที่ได้มาจากการประชุมวิชาการฯ ที่คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกับแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (ITH) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2561

ย้ำไทยต้องรอบคอบก่อนเข้าร่วมเส้นทางสายไหมจีน

ข้อสรุประบุว่า เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนหรือบีอาร์ไอ (Belt and Road Initiative: BRI) มีมิติที่กว้างกว่าเรื่องการค้าและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือกับดักการเป็นหนี้ อันเป็นผลจากการกู้ยืมเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขาดประสิทธิภาพในการชำระเงินคืนจนทำให้เกิดการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจกับจีน

ขณะที่ด้านโอกาสและความท้าทายต่อสุขภาพของโลกนั้น เห็นว่าไทยอาจใช้โอกาสจากบีอาร์ไอเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับจีนในด้านที่ไทยยังขาดความเข้มแข็ง เช่น เทคโนโลยีทางสุขภาพ การผลิตยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า บีอาร์ไออาจสร้างโอกาสให้ประเทศบนเส้นทางได้พัฒนาระบบสุขภาพให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นได้

ส่วนมิติด้านภาวะฉุกเฉินและความมั่นคงด้านสุขภาพ บีอาร์ไอจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรและพาหะนำโรคเพิ่มมากขึ้น ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยควรใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับจีนเตรียมความพร้อมและรับมือภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันประเทศไทยควรสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมและการวิจัยด้านสุขภาพ ซึ่งควรเป็นความร่วมมือที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพภายในประเทศ

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า ประเทศไทยควรศึกษาโอกาส ผลกระทบและมาตรการรองรับในทุกมิติก่อนเข้าร่วมบีอาร์ไอ จัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน แสวงหาโอกาสจากบีอาร์ไอในการยกระดับขีดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติและโรคระบาดโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และกำหนดประเด็นศึกษาวิจัยร่วมกันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้าน ดร.วิศาล บุปผเวส ตัวแทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมว่าความร่วมมือกับจีนเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ต้องหาจุดสมดุลให้ดี ยกตัวอย่างความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านหลายประเทศ ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์กับประเทศที่ผ่าน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการรับรู้เท่าที่ควร จีนก็ต้องการทำให้จบ แต่บางทีไม่ตอบสนองต่อประเทศนั้นๆ การเจรจาในเรื่องนี้จึงต้องอดทนและเข้มแข็ง ไม่ควรใจร้อน เพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์มาก

ชงนโยบายสิทธิบัตร Thailand 4.0 ไปดำเนินเชื่อเกิดผลดีต่อทุกฝ่าย

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญในที่ประชุมคือการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบสิทธิบัตรยาเพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 โดยในงานวิจัย ‘การศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ รวบรวมข้อมูล และสังเคราะห์องค์ความรู้ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องนโยบายสิทธิบัตรยาเพื่อสนับสนุน Thailand 4.0’ ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อประเด็นนี้เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบสิทธิบัตรยา ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบจดสิทธิบัตร การแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพของฐานข้อมูลสิทธิบัตร การเพิ่มคุณภาพของสิทธิบัตรที่ได้รับการอนุมัติ และการส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านระบบสิทธิบัตร

ส่วนที่ 2 คือข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยา เช่น พัฒนาระบบการติดตามการขึ้นทะเบียนยา การกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนในการสนับสนุนยาชื่อสามัญใหม่ และส่วนสุดท้ายคือข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการสนับสนุนการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนายาในประเทศ เช่น การพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการวิจัยและพัฒนายาในระดับประเทศ

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ แสดงความเห็นว่า เรื่องข้อเสนอการพัฒนาระบบสิทธิบัตรยาฯ นี้ ควรเร่งดำเนินการส่งข้อเสนอไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะข้อเสนอในงานศึกษาชิ้นนี้มีแต่เสนอให้ทำสิ่งดีๆ ถ้าหน่วยงานต่างๆ รับไปดำเนินการก็จะเกิดสิ่งดีๆ ขึ้นกับประเทศและอุตสาหกรรมยาของไทยด้วย

ภาคประชาชนแนะทบทวนร่าง กม.สิทธิบัตร-นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้แทนผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกผู้บริโภคด้านสุขภาพ กล่าวว่า ทุกวันนี้ดัชนีชี้วัดผลงานหรือเคพีไอ (Key Performance Indicator: KPI) ที่นักวิชาการจะได้เมื่อไปขอสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร งานศึกษาชิ้นนี้จึงชี้ว่าถ้านักวิชาการหรือนักวิจัยสามารถผลิตยาชื่อสามัญใหม่ในเชิงพาณิชย์ได้ หรือทำให้คนเข้าถึงยามากขึ้น หรือทำให้ยามีราคาลดลง ก็ควรถูกนำไปคิดเป็นเคพีไอให้แก่นักวิชาการด้วย โดยได้เสนอว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีประโยชน์ต่อสังคมมาก จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พิจารณานำไปปรับปรุงและย่อยให้มีความง่ายเพื่อนำไปใช้สื่อสารให้ประชาชนสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้

ด้าน เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้แทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เสริมว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นประโยชน์มากและครอบคลุมหลายมิติด้านยาและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ ที่ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเสนอแก้ไข โดยที่ผ่านมาทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นทางออนไลน์แล้ว 2 ครั้งและได้ร่างสุดท้ายแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นกฤษฎีกา

“ในร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร ฉบับใหม่นั้นมีข้อดีอยู่หลายข้อ เช่น จำกัดการโฆษณา การรู้เห็นข้อมูลทำได้เร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อน่ากังวลหลายข้อเช่นกัน ซึ่งเห็นว่างานวิจัยฉบับนี้ได้มีการกล่าวถึงประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลใน พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ อยู่ ดังนั้น หาก ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ ฉบับใหม่นี้ยังไม่สามารถผ่านได้ในรัฐบาลชุดนี้ ในอนาคตทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ควรนำข้อเสนอจากงานวิจัยชิ้นนี้ไปใช้ประโยชน์ โดยอาจมีการสื่อสารให้เกิดการทบทวนร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ ใหม่ในประเด็นส่วนที่ยังมีข้อกังวลอยู่” ผู้แทนจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว