ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ผนึกภาคีฯ ชวน“สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง” ช็อกมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุสูงร้อยละ 79.85 เดินหน้ารณรงค์ใส่หมวกกันน็อก ด้านหมอฉุกเฉินยอมรับ ยอดคนเจ็บสงกรานต์พุ่ง จนบุคลากรไม่เพียงพอ ภรรยาเหยื่อดื่มแล้วขับสุดช้ำ ฝากเตือนขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลใส่หมวกทุกครั้ง

วันที่ 10 เมษายน 2562 ที่ลานกิจกรรมเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดงานรณรงค์รับมืออุบัติเหตุสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด “สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง” จัดโดย สสส. ร่วมกับ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ข้อมูลศูนย์ปลอดภัยคมนาคม ระบุว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ปริมาณรถยนต์เดินทางเข้าและออกกรุงเทพมหานครสู่ภูมิภาคบนถนนทางหลวงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 จำนวน 8.7 ล้านคัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ จำนวน7.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น1.2 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ16.31 ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน สงกรานต์ปีที่ผ่านมา พบว่ารถจักรยานยนต์ เป็นยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุดถึงร้อยละ79.85 และทำให้เสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 67.4 สาเหตุการเสียชีวิต คือ ขับรถเร็ว และดื่ม/เมาแล้วขับ เป็นลำดับต้นๆ และมีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตถึง 60 คน หรือร้อยละ14.3 อีกทั้งข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้บาดเจ็บที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี มีจำนวน1,449 คน ตัวเลขทั้งหมดจึงยืนยันได้ว่า จักรยานยนต์คือพาหนะที่ต้องให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเตือนมากขึ้น กิจกรรมรณรงค์ “สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง” มุ่งสร้างกระแสให้ถึงกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น วัยทำงานที่ออกมาเล่นน้ำ มีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย ไม่ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ประมาท ส่วนผู้ที่เล่นสงกรานต์เองควรรอให้ผู้ขับขี่ชะลอหรือจอดรถก่อน ค่อยสาดหรือเล่นน้ำ

“ในหนึ่งปีนอกจาก สสส.จะสนับสนุนงานวิชาการ และกลไกการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ ไปจนถึงระดับประเทศแล้ว ในช่วงเทศกาลสำคัญยังเน้นกลยุทธ์สื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อดิจิทัล โดยในปีนี้ได้มุ่งสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เรื่องผลกระทบการเกิดอุบัติเหตุ เช่นโรคเครียดหลังจากเกิดอุบัติเหตุ สถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ ความสำคัญของการคาดเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งมิวสิควิดีโอเพลง ‘คิดถึงบ้าน’ ขับร้องโดยคุณเอ๊ะ จิรากร เป็นเรื่องราวของคนที่กำลังเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัว แต่สอดแทรกการเตรียมความพร้อมด้านคนและรถให้ปลอดภัยเข้าไปด้วย” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า มาตรการลดความเร็ว และลดการดื่ม/เมาแล้วขับ เป็นหัวใจสำคัญของการลดการเจ็บตาย และปีนี้มีวันหยุดยาวกว่าทุกปี อีกทั้งประชาชนเดินทางกลับบ้านเร็วขึ้น ยิ่งวันที่13 เมษายน สถิติยืนยันว่า เป็นวันที่คนดื่มสุราฉลองหนักมากที่สุดและตายสูงสุดในเย็นวันนั้น โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ และปิ๊กอัพเปิดท้าย นอกจากนี้การเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายรองจะพบว่ามากถนนสายหลัก แต่การเสียชีวิตจะปรากฎที่ถนนสายหลักมากที่สุด นอกจากการเมาแล้วขับ อีกสองสาเหตุที่สำคัญบนถนนสายหลักคือ ง่วงหลับใน และการขับรถปาดหน้าแทรกในระยะประชิด อย่างไรก็ตามอยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนรณรงค์เชื่อมประสานสร้างความเข้าใจผู้ใช้รถใช้ถนน มาตรการบังคับทางกฎหมายต้องเข้มงวด ลึกลงไปถึงกติกาหมู่บ้าน ชุมชนคนในพื้นที่ หากพบเห็นคนเมา คนขับรถซิ่ง ต้องช่วยกันสกัดก่อนจะไปเกิดอุบัติเหตุ

พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องแบบนี้ สำหรับ รพ.ราชวิถี อาจไม่มีผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้เดินทางออกต่างจังหวัด แต่สำหรับจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยว หรือถนนไฮเวย์ โรงพยาบาลที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติมาก เนื่องจากช่วงวันหยุดยาวมักเกิดอุบัติเหตุหมู่ จึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น และสิ่งที่โรงพยาบาลต้องเผชิญทุกวันหยุดยาวต่อเนื่อง คือปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นปัญหาดื่มแล้วขับ

“การแก้ไขปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล นอกเหนือจากการรณรงค์ลดอุบัติเหตุอย่างเข้มข้นแล้ว ต้องให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันตนเองและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้อง เพื่อลดความพิการและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น” พญ.ณธิดา กล่าว

ขณะที่ นางเอ (นามสมมติ) ภรรยาของผู้ประสบอุบัติเหตุดื่มแล้วขับจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงกว่า 5 ปี เปิดเผยว่า เมื่อปี 2557 ในงานเลี้ยงวันสงกรานต์ สามีดื่มจนเมาแล้วขับรถไปทำงาน และไม่ได้สวมหมวกนิรภัย จนประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มหัวฟาดฟุตปาธ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงมา 5 ปีแล้ว และเมื่อถึงวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ตนจะนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ หลายครั้งที่ท้อร้องไห้กับตัวเอง คิดถึงภาพครอบครัวที่เคยอบอุ่น เพราะสามีเป็นคนที่รักครอบครัวมาก แต่วันนี้ไม่มีภาพนั้นอีกแล้ว ตอนนี้ทำได้เพียงตั้งใจดูแลสามีและลูกให้ดีที่สุด ด้วยหวังว่าสักวันอาการจะดีขึ้น

“อยากฝากเป็นอุธาหรณ์เตือนสติผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ แม้การห้ามดื่มเหล้าในเทศกาลจะเป็นเรื่องยาก แต่อยากขอให้ทุกคนที่คิดจะดื่มไม่ควรขับรถออกไปบนท้องถนน เพราะอาจมีคนอีกมากมายที่ตกเป็นเหยื่อดื่มแล้วขับ แต่ถ้าหากไม่ดื่มเลยได้ก็จะดีที่สุด เพื่อสุขภาพของตัวเองและเพื่อคนที่รัก สงกรานต์สนุกได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ” นางเอ กล่าว