ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท้องถิ่นคุมเข้มสงกรานต์ปลอดภัยไร้ลวนลามคุกคามทางเพศ จับตารีสอร์ทเด็กเยาวชนห้ามมั่วสุม ด้านเยาวชนแต่งชุดมัมมี่มิดชิด ถือป้ายถูกคุกคามทางเพศสงกรานต์ ร่วมสะท้อนความไม่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น น.ส.สิรินยา บิชอพ หรือ “ซินดี้” ดารานักแสดง ในฐานะเจ้าของแคมเปญ Don’t tell me how to dress นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายเด็กและเยาวชน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ป้องกันและแก้ไขปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ ทั้งนี้ เครือข่ายเยาวชนได้แต่งกายชุดดำสะท้อนภาพความไม่ปลอดภัยในช่วงสงกรานต์

นายจะเด็จ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท รวมไปถึงการลวนลามคุกคามทางเพศช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า ผู้ก่อเหตุมักอยู่ในอาการมึนเมา ขาดสติ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ และน่าเป็นห่วงมากเมื่อเราพบว่า ผู้หญิงในพื้นที่กรุงเทพเกินครึ่ง หรือร้อยละ59.3เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศ จากการสำรวจในปี 2560 ทังนี้หากพิจารณาสาเหตุที่สำคัญของปัญหาการคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ จะพบว่าถูกบ่มเพาะมาจากวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ เชื่อในอำนาจที่เหนือกว่า จึงทำให้ผู้ชายส่วนใหญ่มักฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สนใจในเรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่น อีกส่วนหนึ่งคือการเพิกเฉยของผู้คนในสังคม

"นอกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นแล้ว ยังเกิดจากความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าสงกรานต์คือเทศกาลที่ใครจะล่วงเกินใครก็ไม่ผิด การออกมาเล่นสงกรานต์แสดงว่าคนนั้นพร้อมใจให้ลวนลาม ถูกเนื้อต้องตัว ไม่มีใครถือสา จะกินดื่มเมาแบบไหนก็ได้ และพบว่าเหตุการณ์จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่เล่นน้ำที่ไม่มีการควบคุม ไม่ถูกกำหนดเป็นโซนปลอดเหล้า อาทิ ในงานกิจกรรม คอนเสิร์ต ปาร์ตี้ มิดไนท์สงกรานต์ ฯลฯ ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเอกชนที่จัดขึ้นเอง จะเป็นปัญหามาก กลายเป็นแหล่งผลิตคนเมาขาดสติออกมาบนถนนซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ มูลนิธิฯและเครือข่าย จึงขอเรียกร้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551อาทิ การห้ามส่งเสริมการขายลดแลก แจกแถม การดื่มและจำหน่ายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด การไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20ปี รวมถึงคนเมาครองสติไม่ได้ ห้ามขายบนทางเท้าไหล่ทาง และการควบคุมการโฆษณา เป็นต้น” นายจะเด็จ กล่าว

น.ส.สิรินยา กล่าวว่า เพื่อให้สงกรานต์เป็นเทศกาลที่มีความปลอดภัย ไร้การลวนลามคุกคามทางเพศ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เห็นความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขปัญหา โดยขอให้มีกลไกในการเฝ้าระวังปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำช่วงสงกรานต์ ให้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัว ตำรวจ และภาคประชาสังคม เพื่อรับแจ้งเหตุ และประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ถูกลวนลามคุกคามทางเพศให้ทันเวลา

"ที่สำคัญต้องมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ว่าการคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ควรเล่นน้ำสงกรานต์โดยเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น ให้เกียรติกันและมีสวนร่วมในการเฝ้าระวังแจ้งเหตุ ขณะเดียวกัน ขอสนับสนุนนโยบายพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ปลอดภัย ไม่คุกคามทางเพศ” น.ส.สิรินยา กล่าว

ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ดีใจที่จะได้ร่วมงานกับเครือข่ายฯ เพื่อให้สงกรานต์ครั้งนี้อยู่ในกรอบประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสิทธิเนื้อตัวร่างกาย จากการทำงานที่ผ่านมามีผลที่น่าพอใจ การคุกคามทางเพศลดลง และขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 7,852 แห่งทั่วประเทศ ได้มีการซักซ้อมตื่นตัวในการที่จะดูแล เรื่องของการอำนวยความสะดวกและการบังคับใช้กฎหมายกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการละเมิดสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทั้งนี้เรามีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จะเข้ามาช่วยดูแลสอดส่อง อีกทั้งจะเข้มงวดในการลงทะเบียนเรื่องของที่พัก รีสอร์ทต่างๆไม่ปล่อยให้เด็กเยาวชนเข้ารีสอร์ทไปมั่วสุม หรือเกิดปัญหาการคุกคามทางเพศขึ้น แต่ถ้าหากไปเป็นครอบครัวไม่มีปัญหา คงต้องฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลในเรื่องนี้ด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง