ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ส่งผู้บริหารระดมความคิดแก้ไขปัญหาการเงินการคลัง เกิดไอเดียโรงพยาบาลคู่แฝดสิงห์บุรี-อินทร์บุรี เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำเตียงคุณภาพ สร้างแรงจูงใจเข้ารับบริการ รวมทั้งการสร้างรายได้จากศักยภาพที่มีอยู่

นพ.เสรี ตู้จินดา

นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบริหารการสาธารณสุข กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กรมการแพทย์ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การเงินการคลัง และการจัดบริการ ซึ่งโรงพยาบาลอินทร์บุรีเป็น 1 ใน 18 แห่ง ที่มีความเสี่ยงสถานการณ์การเงินรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการมีประชาชนในเขตรับผิดชอบที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพียง 30,000 กว่าคน งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจึงไม่เพียงพอ รวมทั้งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพียง 15 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกที่จะรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่

นพ.เสรี กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้นำรูปแบบนครชัยศรีโมเดล มาปรับใช้ในการจัดบริการ ด้วยการทำเตียงผู้ป่วยให้มีคุณภาพ พัฒนาความเชี่ยวชาญด้านบริการ จูงใจให้ประชาชนมั่นใจเข้าใช้บริการ โดยจับมือกับโรงพยาบาลสิงห์บุรีเป็นโรงพยาบาลคู่แฝด ใช้บอร์ดบริหารโรงพยาบาลร่วมกัน วางนโยบาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ใช้บุคลากรอย่างมีคุณภาพ ร่วมกันจัดบริการให้เหมาะสมกับศักยภาพของโรงพยาบาล และความต้องการของประชาชนในพื้นที่

“ขอให้ช่วยกันคิดช่วยกันทำ คิดนอกกรอบ ศึกษาความคุ้มทุนในการจัดบริการ ประชาชนต้องการบริการอะไร แบ่งงานกันทำ อะไรที่สิงห์บุรีจะทำ อะไรที่อินทร์บุรีทำได้ดี พร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ คำนึงถึงต้นทุนที่มีทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรง ค่าเสื่อม จะได้รู้ว่าต้องมีผู้รับบริการวันละเท่าไหร่ คิวการรักษาแออัดในเวลาหรือไม่ หรือจะนำภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอจัดบริการประชาชน” นพ.เสรี กล่าว

ด้าน พญ.อัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอินทร์บุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลอินทร์บุรี เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก มีเตียงบริการ 170 เตียง รับผิดชอบประชากร 55,000 กว่าคน มีแพทย์ 23 คน เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาหลักๆ ครบทุกสาขา มีผู้รับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 600-700 คน โรคที่พบได้มากที่สุดคือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง ข้อเสื่อม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ในปี 2562 ผู้บริหารโรงพยาบาลมีแผนการเพิ่มรายได้จากบริการเช่น เปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ ด้านจักษุ และทันตกรรม บริการแพทย์แผนไทย/แพทย์ทางเลือก บริการหน่วยไตเทียม เพิ่มบริการผู้ป่วยใน/บริการห้องพิเศษ มีบริการศัลยกรรมตกแต่งและตรวจสุขภาพเชิงรุก เป็นต้น

“ต้องขอขอบคุณผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาของโรงพยาบาล ได้ส่งทีมมาช่วยระดมสมองวางแผนปรับบริการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำผู้มีประสบการณ์มาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนการทำงาน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินงานดูแลประชาชนในพื้นที่ ต่อไปได้” พญ.อัจฉรา กล่าว