ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-WHO-กรมควบคุมโรค-เครือข่ายลดเค็มฯ ห่วงคนไทยติดเค็มจากวัฒนธรรมท้องถิ่น ต้นเหตุตายกว่า 2 หมื่นคน/ปี แนะโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน ง่ายๆ ด้วยวิธี 3 ลด คาดกินเค็มดิ่งลง 30% ในปี 68

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายลดการบริโภคเค็มจัดการประชุมเรื่องแนวทางลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร คณะกรรมการบริหารแผนส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทย ติดอันดับการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย เทียบเท่าฟินแลนด์และนอร์เวย์ แต่ NCDs ยังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย แต่ละปีสูญเสียรายจ่ายทางสุขภาพ 99,000 ล้านบาท ทุก 1 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิต 37 คน ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ซึ่งมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยแรงงาน โดยพบว่า แนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี และมีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นถึง 1,500,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี จุดคานงัดสำคัญคือ หากลดการบริโภคเค็มของคนไทย จะช่วยลดสาเหตุความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเห็นผล

พญ.เรณู การ์ก

พญ.เรณู การ์ก องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคเกลือเกินมากเกินไปนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนไทยมากกว่า 20,000 คนต่อปี จากโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคไต ทุกๆคนควรต้องตระหนักถึงปริมาณของโซเดียมที่ตนเองบริโภค และจำกัดการบริโภคให้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวถึงพฤติกรรมเสี่ยงคนไทย ‘ทำไมคนไทยถึงติดเค็ม’ว่า จากงานวิจัยการสร้างฐานข้อมูลวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสอาหารท้องถิ่น โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้เครือข่ายขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในประเทศไทย ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลปริมาณโซเดียมจากอาหารยอดนิยมของแต่ละภูมิภาคจากการปรุงโดยอาสาสมัครแม่บ้านในท้องถิ่นและจากร้านค้าพบว่า อาหารยอดนิยมของทุกภูมิภาคมีปริมาณโซเดียมสูงแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมติดรสเค็ม

โดยเครื่องปรุงที่เป็นแหล่งโซเดียมหลักของภาคอีสานคือน้ำปลา ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ และกรุงเทพฯ ใช้เกลือเป็นเครื่องปรุงรสเค็มเป็นหลัก ส่วนใหญ่อยู่ในส่วนประกอบของเครื่องแกง ขณะที่เครื่องปรุงรสเค็มประจำถิ่น เช่น ปลาร้า (โซเดียมเฉลี่ย 4,000 – 6,000 มิลลิกรัม/100 กรัม) กะปิ (โซเดียม 500 มิลลิกรัม / 1 ช้องชา) บูดู (โซเดียมเฉลี่ย 8,047.25 มิลลิกรัม/ 100 กรัม) ฯลฯ พบว่ามีการเติมเครื่องปรุงรสอย่างผงชูรส ผงปรุงรสเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่วิถีการผลิตดั้งเดิมไม่มีการเติมสิ่งเหล่านี้ ทำให้มีปริมาณโซเดียมที่ไม่ได้มาจากเกลือเพื่อถนอมอาหารสูงเกินความจำเป็น

“ตัวอย่างเส้นทางปลาร้า จากผลศึกษาพบว่ากว่าจะถึงมือผู้บริโภคต้องผ่านถึง 3 ทอดด้วยกัน เริ่มจากปลาร้าต้นทางที่ผลิตโดยใช้ภูมิปัญญาแบบท้องถิ่นคือใช้ปลา เกลือ รำข้าว เป็นส่วนประกอบหลัก แต่หลังจากนั้นได้ผ่านมือพ่อค้าคนกลางและผู้จำหน่ายทำให้มีการแต่งกลิ่นและรสชาติทั้งผงชูรส ผงปรุงรส กะปิ น้ำกระเทียมดองลงไป ผู้บริโภคจึงได้รับโซเดียมเกินโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้อาหารยอดนิยมที่ทุกภาคนิยมคือ อาหารสำเร็จรูป จากข้อมูลของคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็มพบว่า อาหารสำเร็จรูปยอดนิยมที่มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุดคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โซเดียมเฉลี่ย 1,275 มิลลิกรัม/ 1 ซอง (50 กรัม) ตามด้วย โจ๊กคัพ 1 ถ้วยขนาด 35 กรัม โซเดียมเฉลี่ยกว่า 1,269 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณโซเดียมเกินกว่าที่เด็กควรได้รับในแต่ละวัน” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า วิธีการลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย ทำได้ง่ายๆ ด้วย 3 ลดคือ 1. ลดการเติม โดยเฉพาะการเติมเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหาร 2. ลดการกินน้ำปรุง เช่นน้ำส้มตำ น้ำยำ น้ำแกง น้ำซุป น้ำจิ้ม ที่เป็นแหล่งรวมโซเดียม และ 3. ลดความถี่การกินทั้งอาหารแปรรูป ได้แก่ ไส้กรอก หมูยอ อาหารที่ใช้ส่วนผสม ไตปลา ปลาร้า พริกแกง และกะปิ ซึ่งมีโซเดียมสูง เพราะในแต่ละวันคนไทยควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือไม่เกิน 1/3 ช้อนชาต่อมื้อ หรือน้ำปลาไม่เกิน 2/3 ช้อนชาต่อมื้อ ในส่วนของมาตรการสนับสนุนลดพฤติกรรมติดเค็ม สสส.ได้ร่วมสร้างความตระหนักในสังคมด้วยการรณรงค์ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดสิ่งแวดล้อมลดการบริโภคเค็ม เช่น โรงพยาบาล ชุมชน และปลูกฝังความฉลาดรู้ในการบริโภคตั้งแต่ในวัยเด็กผ่านหลักสูตรลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

พญ.ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแนวทางลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนบริโภคเกลือลดลง 30% ภายในปี 2568 ประกอบด้วย การสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือลดการบริโภคโซเดียมจากทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมการบริโภคอาหารโซเดียมต่ำ เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ ผลักดันภาคอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารให้ผลิตอาหารลดโซเดียม ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมเพื่อลดการบริโภคโซเดียม รวมทั้งกระบวนการติดตามเฝ้าระวัง พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจากหลายภาคส่วน

โดยผลจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติได้มีมติให้ดำเนินการล่าสุดคือ มาตรการสนับสนุนให้มีภาษีโซเดียม โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผู้บริโภคจากอาหารที่มีโซเดียมสูง ลดการป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร กระตุ้นให้คนไทยตระหนักและตระหนกถึงโรคและภัยจากโซเดียม รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์อาหารที่ลดปริมาณโซเดียมลง