ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายหมอ-ประชาชนจี้รัฐเดินหน้าเก็บภาษีความเค็มหรือภาษีโซเดีย วอนภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรอาหารเพื่อสุขภาพประชาชน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การเก็บภาษีความเค็มกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เมื่อมีการโยงถึงภาคอุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ ซึ่งทำกำไรจากการผลิตอาหารที่มีโซเดียมสูง ไม่ว่าจะเป็น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยว โดยมีการโฆษณาชวนให้ซื้อสินค้าอย่างแยบยล

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก แม้เป็นที่ประจักษ์ว่าการบริโภคเค็มคร่าชีวิตคนไทยไปมากกว่า 20,000 คนต่อปี แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีแนวโน้มที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารจะปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารของตน ด้วยความกังวลว่าจะสูญเสียยอดการขาย

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ภาษีความเค็มเป็นมาตรการสำคัญ ที่กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรอาหารลดโซเดียมและสร้างสุขภาพที่ดีของคนไทย โดยเสนอให้เก็บภาษีความเค็มเป็นขั้นบันไดลดหลั่นตามปริมาณโซเดียมในสินค้าอาหาร โดยเฉพาะสินค้าที่ปรุงรสด้วยความเค็ม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยว แต่ไม่เก็บกับสินค้าบริโภคจำเป็น เช่นน้ำปลา และไม่เก็บกับผู้ประกอบการขายอาหารรายเล็ก

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโรคประจำประเทศไทย ระบุว่าคนไทยบริโภคเกลือประมาณ 10 กรัมต่อวัน มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ถึง 2 เท่า นำไปสู่การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease หรือ NCD) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่ว โรคไตวาย และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ตั้งเป้าหมายให้คนไทยกินเค็มลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 โดยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารปรับเปลี่ยนสูตรในผลิตภัณฑ์ให้มีโซเดียมลดลง

มาตรการทางภาษีเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ เพราะเป็นวิธีที่จะกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลงระดับความเค็มในสินค้าของตน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการพูดคุยระหว่างเครือข่ายคนทำงานผลักดันการลดบริโภคเค็มกับตัวแทนภาคอุตสาหกรรมอาหาร แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารในผลิตภัณฑ์มากนัก

ในปลายปี 2561 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าการจัดเก็บภาษีความเค็มจะยึดแนวทางเดียวกับภาษีความหวาน โดยจะให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว ในส่วนของรายละเอียดภาษีความเค็มนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยคาดว่าผลการศึกษาและข้อเสนอจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.61 แล้วจะนำเสนอให้กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรีพิจารณาในขั้นต่อไป แต่เชื่อว่า ภาษีความเค็มจะไม่สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวถูกชะลอตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากรัฐบาลยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เกิดคำถามถึงการผลักดันภาษีความเค็มว่าจะสำเร็จได้ในเร็ววันหรือไม่

ดร.เรณู การ์ก เจ้าหน้าที่ฝ่ายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าในกรณีของต่างประเทศ พบว่ามีการใช้มาตรการที่หลากหลายเพื่อลดการบริโภคเค็ม เช่น ในฮังการี มีการเก็บภาษีความเค็มในขนมขบเคี้ยวและเครื่องปรุงรส ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงภาระทางภาษี ทำให้ประชาชนลดการบริโภคเค็มลงถึง 20-35%

ในกรณีของอังกฤษ รัฐบาลขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารลดความเค็มในผลิตภัณฑ์ และยังกำหนดให้ติดฉลากอาหารบนสินค้า ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมของประชากรลดลงถึง 15% ในระหว่างปี 2544-2554

เช่นเดียวกับฟินแลนด์ รัฐบาลมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน พร้อมกับการรณรงค์ให้ติดฉลากเตือน มีการติดตามผลอย่างเข้มข้น ส่งผลให้การบริโภคเค็มในประชากรลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ดร.เรณู ย้ำว่าความสำเร็จในการลดบริโภคเค็มนั้น ต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง และมีการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน รวมทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยเห็นผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร คณะกรรมการบริหารแผนส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่านอกจากการบังคับใช้ภาษีความเค็มแล้ว การสร้างความตระหนักให้กับประชาชนก็เป็นอีกมาตรการที่มีความสำคัญ เพราะคนไทยบริโภคเค็มจนเคยชิน

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการเก็บข้อมูลปริมาณโซเดียมในอาหารยอดนิยมของแต่ละภูมิภาค จากการปรุงอาหารโดยอาสาสมัครแม่บ้านในท้องถิ่นและร้านค้า พบว่าอาหารยอดนิยมของทุกภาคมีโซเดียมสูง เช่น แกงฮังเล ขนมจีนน้ำเงี้ยว ยำกล้วยป่า และยำบูดู เป็นต้น

นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความสูญเสียทางรายจ่ายสุขภาพให้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่า 99,000 ล้านบาท/ปี ยังพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี รัฐบาลเสียค่าใช้จ่ายในการล้างไตให้ผู้ป่วยประมาณ 2 หมื่นล้านบาท/ปี มีผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 150,000 คนในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

หากมีความตระหนักในเรื่องการบริโภคแล้ว เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารปรับเปลี่ยนตัวเองได้ในที่สุด