ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธาน กมธ.สาธารณสุข แนะ สตง. เอาทรัพยากรไปทุ่มกับการจับปลาใหญ่มากกว่าเพ่งเล็งปลาเล็ก และให้ดูเจตนาการนำเงินไปใช้ด้วยว่าเป็นเจตนาทุจริตหรือไม่ ยกตัวอย่าง สปสช. ใช้เงินด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับประชาชน สตง.ควรให้คำแนะนำ มากกว่าให้เกิดเรื่องแล้วไปเอาผิดในภายหลัง

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุมครั้งที่ 28/2562 เป็นพิเศษ ซึ่งโดยหนึ่งในวาระการประชุมมีเรื่องการรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประจำปีงบประมาณ 2555 - 2560 ตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ด้วย

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

ทั้งนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อภิปรายว่า การทำงานของ สตง. แม้จะทำได้อย่างถูกต้อง แต่ประเด็นคือเป็นการจับปลาเล็กและอยากให้หันไปจับปลาใหญ่มากกว่า เพราะ สตง.มีบุคลากรน้อย งบประมาณก็ไม่มากแต่ภาระหน้าที่เต็มมือ ขณะที่การทุจริตคอรัปชั่นในเมืองไทยมีเยอะมาก ทำอย่างไร สตง.จึงจะหันไปจับปลาใหญ่

นพ.เจตน์ ยกตัวอย่างกรณีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ด้วยความเข้าใจว่าเป็นการจัดการสมัยใหม่ ก็เป็นคุณูปการของ สตง. ที่เข้าไปตรวจแล้วบอกว่าหลายๆ อย่างทำไม่ได้ ทำแล้วผิดกฎหมาย ทำให้ สปสช.ตื่นตัว

อย่างไรก็ดี สตง.ก็ต้องดูผลลัพธ์การทำงานของ สปสช.ด้วยว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เช่น การนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล 223 ล้านบาท ในมาตรา 41 บอกว่าเอาเงินไปจ่ายเยียวยาความเสียหาย แต่ในมาตรา 42 บอกว่าต้องมีการไล่เบี้ย สตง.ก็บอกว่าทำไมถึงไม่ไล่เบี้ย

"ผมจะอธิบายว่ากรณีการทำผิดของแพทย์มีผิดหลายแบบ ทั้งแบบผิดกฎหมาย ผิดข้อหาละเมิด และกรณีที่ผิดอย่างอื่น เช่น แพทย์รักษาโรคแล้วเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน หรือแม้แต่การให้ยาปฏิชีวนะธรรมดาๆ แล้วคนไข้แพ้ยาจนตาบอด แบบนี้ก็ต้องให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนที่จะลามไปเป็นคดีฟ้องแพทย์ ซึ่งการไล่เบี้ยจะกระทบกำลังใจของผู้ทำการรักษาแล้วจะทำงานได้อย่างไร มันอยู่ที่เจตนาในการรักษาพยาบาล ถ้าท่านใช้มาตรา 42 ไล่เบี้ยเต็มรูปแบบ แบบนี้ทำงานไม่ได้" นพ.เจตน์ กล่าว

หรือกรณีการนำเงินกองทุนไปจัดซื้อยา อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อจัดส่งให้หน่วยบริการนำไปจัดบริการแก่ประชาชน ตรงนี้ก็เป็นการใช้อำนาจทำงานแบบสมัยใหม่ หรือกรณีนำเงินไปให้หน่วยงานที่ไม่ใช่บริการ เช่น กองทุนตำบล ตนคิดว่า สตง. ต้องดูเจตนาการนำเงินไปใช้ด้วยว่าเป็นเจตนาทุจริตหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญมากกว่า

"ผมไม่ได้ต้องการให้ท่านไม่ตรวจสอบหรือตรวจสอบแล้วทำเป็นมองไม่เห็น ผมอยากให้ท่านให้คำแนะนำ ให้ข้อเสนอแนะมากกว่า ถ้าเราป้องกันได้ มันดีกว่าให้เกิดเรื่องแล้วไปตรวจสอบเอาผิดในภายหลัง อยากให้ตรวจสอบในลักษณะป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิด แต่สูงกว่านั้นอยากให้ สตง.เอาทรัพยากรที่มีทุ่มไปกับการจับปลาใหญ่มากกว่าไปเพ่งเล็งปลาเล็กที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ถ้ากฎหมายมีปัญหาก็เสนอแก้ไขกฎหมาย ถ้าเป็นเจตนาที่ดี ไม่ได้มีความเสียหายแล้วมีผลลัพธ์ที่ดีออกมาสู่ประชาชน กับชาติบ้านเมือง ผมคิดว่าตรงนั้นคือเจตนารมณ์ในการตรวจสอบของ สตง." นพ.เจตน์ กล่าว

ด้านนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ข้อเสนอให้ดูเจตนาและผลลัพธ์เป็นสำคัญก็ตรงกับแนวนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ดูในเรื่องผลสัมฤทธิ์มากขึ้น ถ้าทำโดยไม่มีเจตนาทุจริตจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไร เช่น เรื่องมาตรา 42 ฯลฯ จะรับไปดูว่าจะมีแนวทางบริหารจัดการอย่างไรให้สามารถทำได้และไม่ผิดกฎหมาย บางเรื่องอาจต้องทำกฎหมายใหม่หรือกฎหมายเฉพาะ เพราะในกฎหมายก็บอกไว้ว่านอกจาก สตง.ตรวจสอบตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ แล้ว ถ้าพบว่าข้อกฎหมายไม่เหมาะสม จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ก็ให้เป็นหน้าที่ สตง.ในการเสนอแนะเรื่องเหล่านี้ด้วย แต่กระบวนการเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนเรื่องให้จับปลาใหญ่ให้มากขึ้นก็รับไปกำหนดเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไปเช่นกัน