ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำจำกัดความของการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ว่าเป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษาไม่หาย โดยให้การป้องกัน บรรเทาอาการ ตลอดจนการบรรเทาความทุกข์ทรมานด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เป็นการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ อันได้แก่ กาย ใจ ปัญญา และสังคมของผู้ป่วย

สถานการณ์ Palliative Care ทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ www.who.int เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า

- แต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายราวๆ 40 ล้านคน ที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง ในจำนวนนี้มีถึง 78% ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

- ผู้ป่วยระยะสุดท้าย 40 ล้านคนทั่วโลก มีเพียง 14% เท่านั้น ที่ได้รับการดูแลแบบ Palliative care

- ข้อจำกัดหนึ่งของการดูแลแบบ Palliative care คือข้อบังคับที่เข้มงวดในการใช้มอร์ฟีนและกลุ่มยาบรรเทาปวดอื่นๆ สำหรับบรรเทาอาการทรมานก่อนเสียชีวิต

- อุปสรรคสำคัญของการดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative care คือความเข้าใจและการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่แพทย์ แต่รวมถึงพยาบาล และอาสาสมัครทางการแพทย์ในชุมชน

- สาเหตุที่ทั่วโลกต้องการการดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative care มากขึ้น มาจากผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (noncommunicable diseases) ที่เพิ่มขึ้น และการเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยของทั่วโลก

- การดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative care จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการใช้บริการทางสาธารณสุขที่ไม่จำเป็น

- สำหรับการดูแลจะเน้นที่องค์รวมทุกมิติสุขภาพ ตั้งแต่ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณของผู้ป่วย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การ “บรรเทาอาการ” ทางร่ายกายเพียงอย่างเดียว แต่จะครอบคลุมถึง “ความต้องการภายใน” ของผู้ป่วย ตลอดจนความทุกข์ของญาติผู้ป่วยระหว่างการรักษา และช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการจากไปอย่างสงบใน “บ้าน” ที่คุ้นเคยของคนไข้เอง

- แก่นสำคัญของ Palliative care ต้องยืนอยู่บนฐานของการเคารพในสิทธิมนุษยชนบนฐานสิทธิสุขภาพ (human right to health) และควรเป็นการจัดบริการทางสาธารณสุขผ่านความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลด้วย

รายงานของ WHO ระบุตัวเลขผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับบริการแบบ Palliative care ทั่วโลก แบ่งเป็นประเภทของโรค ดังนี้

- โรคหัวใจและหลอดเลือด 38.5%

- โรคมะเร็ง 34%

- โรคด้านระบบทางเดินหายใจ 10.3%

- AIDS 5%

- โรคเบาหวาน 4.6%

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มโรคอื่นๆ ที่ต้องการการดูแลแบบ Palliative care ด้วยเช่นกัน อาทิ ไตวาย โรคตับเรื้อรัง โรคปลอกประสาทเสื่อม พาร์กินสัน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ กลุ่มโรคความผิดปกติทางระบบประสาท สมองเสื่อม ความพิการแต่กำเนิด วัณโรคดื้อยา

กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่มักต้องเผชิญกับอาการเจ็บปวด โดย 80% ของผู้ป่วย AIDS และมะเร็ง และ 67% ของกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดตั้งแต่ระดับทนรับไหวไปจนถึงระดับรุนแรงในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ดังนั้นยาระงับอาการปวดในกลุ่ม opiates ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดูแลแบบ Palliative care

----- การดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative care เข้าถึงได้ยาก -----

WHO ประเมินว่า แต่ละปีจะมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องการการดูแลแบบ Palliative care อยู่ราวๆ 40 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 78% ที่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ขณะที่ 98% ของผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายก็อาศัยในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเช่นกัน โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นเด็กที่อาศัยในทวีฟแอฟริกา

เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเข้าถึงบริการ Palliative care ไม่ได้ หรือเข้าถึงได้ยากนั้น ประกอบด้วย

1.Palliative care ไม่ถูกนับรวมไว้ในระเบียบด้านสาธารณสุขสากล

2.การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขเพื่อให้บริการ Palliative care มีจำกัด หรือบางแห่งก็ไม่มีการฝึกอบรมเลย

3.มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงกลุ่มยาระงับหรือบรรเทาอาการปวด ซึ่งเป็นตัวยาจำเป็นในบางกลุ่มโรค

4.ไม่เข้าใจแก่น นโยบาย หรือประโยชน์ที่สาธารณะจะได้รับจากการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบ Palliative care

5.วัฒนธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับความตายที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

6.ความเข้าใจผิดเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบ Palliative care เช่น เข้าใจว่าคือการดูแลผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มมะเร็ง หรือเข้าใจคำว่า “ระยะสุดท้าย” ว่าเป็นการมีชีวิตเหลือแค่ไม่นาน เช่น ผู้ป่วยเหลือเวลาอีกแค่ 1 สัปดาห์

7.เข้าใจผิดเรื่องการใช้กลุ่มยาระงับปวดว่าจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากกว่าเดิม

ผลการศึกษาในปี 2554[1] เรื่องการรักษา Palliative care ของ 234 ประเทศ พบว่ามีเพียง 20 ประเทศเท่านั้น ที่มีระบบการดูแลผู้ป่วยแบบ Palliative care ขณะที่ 42% ของพื้นที่ที่ศึกษาไม่มีการรักษาแบบ Palliative care เลย ขณะที่การสำรวจจากคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติในปี 2553 ชี้ว่า มี 121 ประเทศในโลกที่ยาระงับอาการปวดมีให้บริการอย่างไม่เพียงพอ ซึ่งไม่เพียงพอแม้แต่จะให้บริการขั้นพื้นฐาน

----- แต่ละประเทศจะทำอะไรได้บ้าง ? -----

ระบบระเบียบด้านสาธารณสุขต้องรองรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบ Palliative care เช่น นโยบายทางสาธารณสุขต้องมีการกำหนดโครงการเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบ Palliative care จัดฝึกอบรมหรือสร้างทรัพยากรบุคคลด้าน Palliative care ให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่กลุ่มแพทย์และพยาบาล แต่รวมถึงอาสาสมัครด้วย รวมถึงการออกนโยบายที่เอื้อให้คนไข้เข้าถึงกลุ่มยาบรรเทาอาการปวด

อ้างอิง : Palliative Care [www.who.int]

หมายเหตุ : เผยแพร่ใน เวที สช.เจาะประเด็น “เร่งตาย VS เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด ?” เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

[1] Lynch T, Connor S, Clark D. Mapping levels of palliative care development: a global update. Journal of Pain and Symptom Management 2013;45(6):1094-106