ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากพูดถึงสมาร์ทซิตี้ ชื่อของจังหวัดขอนแก่นคงเป็นจังหวัดแรกๆ ที่คนคิดถึงเพราะเป็น 1 ใน 3 ของจังหวัดต้นแบบในการเป็นสมาร์ทซิตี้ร่วมกับเชียงใหม่และภูเก็ต โดยคอนเซ็ปต์สมาร์ทซิตี้ของ จ.ขอนแก่น จะประกอบด้วยความสมาร์ทในหลายๆด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือคอนเซ็ปต์ Smart Living หรือการเป็นเมืองน่าอยู่ มีความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพอนามัย

ทั้งนี้ ในงานสัมมนา HealthTechXchange ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อเร็วๆนี้ รศ.นพ.ชลธิป พงศ์สกุล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอในหัวข้อ "Khon Kaen Smart Living in Khon Kaen Smart City" เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในด้านสุขภาพของประชาชน

รศ.นพ.ชลธิป เริ่มต้นการบรรยายโดยกล่าวถึงแนวคิด Khon Kaen Smart Living ว่าประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆคือ Preventive Healthcare Service, Smart Ambulance และ Health Information Exchange โดยชี้ว่าแม้ประเทศไทยจะเป็น Medical Hub โรงพยาบาลขยายเตียงกี่พันเตียงก็ตาม ไม่มีทางที่จะรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ ดังนั้นจึงวางเรื่อง Preventive Healthcare Service เพื่อดูแลและป้องกันการเจ็บป่วย คนที่ไม่ป่วยก็ควรจะไม่ป่วยต่อไป ส่วนคนที่ป่วยแล้วสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน เช่น เครื่องวัด BP เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด หรือ Device ที่อาจมีในอนาคต เพื่อให้ตัวผู้ป่วยสามารถมอนิเตอร์สถานะสุขภาพของตัวเองได้ ดูแลตัวเองที่บ้านได้และมาโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด

แต่หากเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาต้องมีการ Alert ไปที่โรงพยาบาล ซึ่งก็คือคอนเซ็ปต์ Smart Ambulance รถพยาบาลมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับโรงพยาบาล ทำให้แพทย์สามารถเห็นข้อมูลผู้ป่วยได้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรักษาได้

และส่วนที่ 3 คือ Health Information Exchange มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในภาพของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างไร้รอยต่อ โดยทั้ง 3 คอนเซ็ปต์นี้ถูกส่งเข้าประกวด IDC Smart City Award ในปี 2018 และได้รางวัลในสาขา Public Health and Social Service กลับมาอีกด้วย

เมื่อไล่เรียงรายละเอียดในแต่ละหัวข้อ รศ.นพ.ชลธิป เริ่มต้นที่ Smart Ambulance ซึ่งเป็นระบบที่ใช้งานแล้วในโรงพยาบาลขอนแก่น ระบบนี้ใช้การส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจากรถฉุกเฉินมาให้แพทย์ได้เห็นผู้ป่วยได้ก่อนถึงโรงพยาบาล เช่น ข้อมูลรูปหน้าตาผู้ป่วย ข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ข้อมูลสัญญาณชีพต่างๆ ทำให้แพทย์สามารถเตรียมการรักษาล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ดี ระบบนี้ยังมีอุปสรรคพอสมควรเพราะข้อมูลเหล่านี้ใช้แบนด์วิดท์เยอะมาก ทำให้รถพยาบาลต้องใช้ซิมการ์ดหลายตัวในการส่งสัญญาณ

แนวคิดต่อมาที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นคิดขึ้นมาคือ Smart ICU Concept กล่าวคือห้อง ICU เป็นสถานที่ที่มีผู้ป่วยหนักจำนวนมาก มีอุปกรณ์มอนิเตอร์ต่างๆเต็มไปหมด ปัจจุบันเราใช้วิธีอ่านด้วยตาแล้วจดบันทึกด้วยมือ จากนั้นจึงคำนวนค่าต่างๆแล้วบอกว่าสถานะของคนไข้แต่ละคนเป็นอย่างไร แต่ Smart ICU จะเป็นการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้จากเครื่องมือมือนิเตอร์โดยตรงเข้าสู่ระบบข้อมูลส่วนกลางเพื่อใช้อัลกอริทึมบางอย่างในการวิเคราะห์ แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเพราะการจะนำข้อมูลมา integrate ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีฮาร์ดแวร์บางอย่างในการแปลงสัญญาณอุปกรณ์ อีกทั้งต้องมาจัดเรียงข้อมูล รวมทั้งพัฒนาอัลกอริทึมในการ Alert สถานะผู้ป่วยขึ้นมา

คอนเซ็ปต์ต่อมาคือ Preventive Healthcare Service ซึ่งปัจจุบันยังเป็นโครงการวิจัยภายใต้ชื่อ MANEE มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อายุ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการคือ 1.พยายามหา Smart Technology Set ที่ใช้ได้กับผู้สูงอายุจริงๆ เพื่อมอนิเตอร์ภาวะสุขภาพของคนในหมู่บ้าน เช่น การก้าวเดิน การนอนหลับ ฯลฯ 2. พยายาม Demonstrate ว่าสามารถมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพแบบ Real Time ได้จริงหรือไม่ และ 3.พยายามเชื่อมชุมชนเข้ามาใช้ Smart Technology รูปแบบต่างๆ

สำหรับพื้นที่ดำเนินการของโครงการ MANEE ทางผู้วิจัยได้เลือกพื้นที่หนึ่งในนอกเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น จำนวนประชากร 1,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรและบางส่วนเป็นข้าราชการเกษียณอายุ มีผู้สูงอายุประมาณ 40% ของประชากรทั้งหมด

"เราทำอะไรบ้าง อันดับแรกต้องมีช่องทางให้ข้อมูลต่างๆวิ่งได้ก่อนโดยติดตั้งอินเทอร์เน็ตไว-ไฟของบริษัททีโอทีไว้ที่บ้าน หรือถ้าบ้านไหนไม่มีก็ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน จากนั้นเราจะ Detect พฤติกรรมต่างๆในบ้านด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น Smart Watch ตรวจจับเรื่องการเดิน การนอน นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดเรื่องความดันโลหิต อาหารที่รับประทาน ปริมาณน้ำตาลในเลือด รวมทั้ง Beacon Tracking นอกจากนี้เรายัง Tracking ลักษณะอาหารที่รับประทาน อย่างที่ทราบว่าอาหารอีสานมีรสเค็มมาก เป็นบ่อเกิดของหลายๆโรค เราก็ซื้อ Salt meter มาให้จุ่มวัดในอาหารแล้วติดกล้องบันทึกไว้ นอกจากนี้เรายังมีทีมที่จะวิเคราะห์แคลอรี่จากภาพด้วยว่าอาหารที่รับประทานนี้ ควรมีแคลอรี่เท่าไหร่ เก็บค่าไปเรื่อยๆ ถ้าวิเคราะห์ได้ เราก็จะรู้ว่าคนที่เป็นเบาหวานไม่ควรกินแคลอรี่เกินเท่านี้ๆ เป็นต้น" รศ.นพ.ชลธิป กล่าว

รศ.นพ.ชลธิป กล่าวอีกว่าสิ่งต่างๆที่กล่าวไปนี้ก็เหมือนเป็นระบบ PHR (Personal Health Record) ที่เก็บข้อมูลด้วยอุปกรณ์ต่างๆ อย่างไรก็ดี โครงการนี้ยังเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่มีข้อสรุปออกมาเพราะยังมีแค่ 30 ตัวอย่าง และการใช้งานจริงก็เจอปัญหาพอสมควร เช่น การสอนผู้สูงอายุให้ใส่ ถอด ชาร์จอุปกรณ์ รวมถึงการซิงโครไนซ์ขึ้นคลาว์ไม่ใช่เรื่องง่าย บางทีหลานก็เอาอินเทอร์เน็ตดู Youtube แล้วเน็ตหมดก็มี (หัวเราะ) หรือในส่วนของข้อมูลความดันโลหิต จะให้ผู้สูงอายุวัดเองก็อาจไม่มีความถูกต้อง บางครั้งก็ต้องให้ อสม. ไปช่วยวัดให้และเชื่อมต่อข้อมูลให้

นอกจากโครงการ MANEE แล้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังทำอีกโครงการ Long term care digital innovation โดยมีลักษณะคล้ายๆกันคือมี Device Tracking ข้อมูลต่างๆ เช่น BP น้ำตาลในเลือด แต่ต้องมี อสม. ไปวัดตามบ้าน รวมทั้งมีการเชื่อมข้อมูล EMR บางส่วนกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อดูว่าคนไข้คนนี้เคยไป Visit ที่ไหนบ้าง ผลแล็ปเป็นอย่างไร

"เราหวังว่าโครงการนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มาโรงพยาบาลไม่ได้ ให้เขาทราบข้อมูลตัวเองได้ เช่น อาจเทียบกับคนอื่นที่มีอายุใกล้เคียงกันว่าตัวเองมีสถานะสุขภาพอย่างไร เป็นต้น" รศ.นพ.ชลธิป กล่าว

มีถึงส่วนที่ 3 คือ Health Information Exchange เมื่อมีการทำระบบต่างๆขึ้นแล้วปัญหาคือจะเชื่อมข้อมูลกันอย่างไร ไม่อย่างนั้นแต่ละโครงการก็จะมีข้อมูลเป็นไซโล จึงต้องพยายามคิดและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่าจะเชื่อมต่อข้อมูลกันตรงจุดไหนได้บ้าง ตรงนี้เทคโนโลยี Blockchain อาจเป็นคำตอบ โดยวางระบบให้ผู้ป่วยอยู่ตรงกลาง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยไปหาหมอหลายคน ไปรับบริการต่างๆ เช่น เจาะแล็ป เอกซเรย์ ไปร้านขายยา รวมถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลที่เก็บจาก Device ต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้อาจจะเก็บเป็น index อยู่ใน Blockchain แต่ตัว Data จริงๆยังอยู่ที่หน่วยงานเจ้าของข้อมูล

ทั้งนี้ Index ในบล็อกจะชี้ว่าต้องระบบไปเอาข้อมูลที่ไหนบ้าง ข้อดีของเมืองไทยคือสามารถระบุตัวคนได้จากบัตรประชาชนไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ต้องใช้เลข 13 หลัก เช่น อาจจะขอร้านขายยาที่ร่วมโครงการว่าถ้าจะขายยาให้คนไข้ช่วยระบุชื่อ ที่อยู่ด้วย ส่วนโรงพยาบาลรัฐมีเลข 13 หลักอยู่แล้ว ก็สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้ว่าคนๆนี้เคยไปรับบริการที่ไหนมาบ้าง แล้วดึงข้อมูลมาแสดงร้อยเรียงกันได้

ขณะเดียวกัน Data อีกส่วนที่ก็จะเก็บไว้ในฐานข้อมูลอีกชุดหนึ่ง เป็นข้อมูลที่ไม่แสดงตัวตนผู้ป่วยว่าเป็นใคร แสดงแค่เพศ อายุและเหตุการณ์สุขภาพที่เกิดขึ้น ข้อมูลนี้จะเก็บไปเรื่อยๆในระยะยาวเพื่อนำมาทำเป็น Big Data Analytic แล้วดูว่า Outcome ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง เช่น การเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน ก็จะสามารถไล่กลับไปดูได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง โดยเอาพฤติกรรมจริงๆมาวิเคราะห์

"นี่คือภาพฝันของขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ แต่ฝันจะเป็นจริงได้หรือเปล่าก็ต้องดูกันต่อไป" รศ.นพ.ชลธิป กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง