ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC เผยระบบบริการสุขภาพหรือ NHS ของสหราชอาณาจักรเริ่มน่าเป็นห่วง หลังเข้าสู่ภาวะขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะหมอและพยาบาล

จากความต้องการของสหราชอาณาจักรที่ต้องการพยาบาลเพิ่มมากถึง 5,000 คนในแต่ละปี สอดคล้องกับรายงานจาก WHO ที่ระบุว่าในปี 2015 สัดส่วนของแพทย์ชาวสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 27 คน ต่อ 10,000 คน ขณะที่พยาบาลอยู่ที่ 8 คน ต่อ 1,000 คน

ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องผลักดันแคมเปญเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่จากต่างแดน

ในปัจจุบัน NHS มีการจ้างงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว โดยจากรายงานเมื่อปีที่ผ่านมาระบุว่ามีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานใน NHS สูงถึง 12% โดยชาติที่เข้ามาทำงานสูงสุดนั้นอยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป คิดเป็นเจ้าหน้าที่ 56 คน ต่อคนไข้ 1,000 คน

รองลงมาคือ ชาวเอเชีย 43 คน ต่อคนไข้ 1,000 คน

ขณะที่ตัวเลขของชาวสหภาพยุโรปที่เข้ามาทำงานใน NHS กลับมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตำแหน่งพยาบาล จากปี 2015 - 2016 ที่มีมากถึง 19% แต่ปี 2017 - 2018 เหลือเพียง 7.9% เท่านั้น

จากภาวะดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มชาตินอกยุโรปเข้ามาทำงานใน NHS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงาน UK parliamentary briefing paper เดือนมิถุนายน 2018 มีชาวอินเดียเข้าทำงานเป็นแพทย์ทั้งหมด 12,610 คน รองลงมาคือ ปากีสถาน 4,659 คน อียิปต์ 2,014 คน และไนจีเรีย 1,903 คน

ด้านตำแหน่งพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่น ๆ ชาวฟิลิปปินส์ครองแชมป์อันดับหนึ่ง โดยมีทั้งหมด 10,719 คน รองลงมาคืออินเดีย 6,656 คน ไอร์แลนด์ 4,608 คน สเปน 3,370 คน โปรตุเกส 3,190 คนและซิมบับเว 2,450 คน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก โดยเฉพาะในสายงานสาธารณสุข ย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานในสหราชอาณาจักรจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาจึงทำให้ฟิลิปปินส์ในปัจจุบันขาดแรงงานคุณภาพชั้นดี เช่นเดียวกับประเทศปากีสถานและไนจีเรียที่กำลังจะเริ่มได้ผลกระทบ หากดูจากรายงานที่ชี้ให้เห็นว่า ทั้ง 3 ประเทศนั้นติดท็อป 5 สัญชาติที่เข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักสูงสุดในปี 2016

หากมองมุมกลับ ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มมองว่า การที่แรงงานชั้นดีเหล่านี้เดินทางไปทำงานในประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งที่พวกเขาจะได้รับกลับมาคือทักษะวิชาชีพทรงคุณค่า ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกมุมหนึ่งผ่านการโอนเงินข้ามประเทศ

ในฟิลิปปินส์เอง การส่งออกแรงงานคุณภาพในสายสาธารณสุขถือเป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ประชาชนจำนวนมากมีความกระตือรือร้นที่จะไปทำงานนอกประเทศ เช่นเดียวกับอินเดียเองที่มีบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม WHO มองว่าในปี 2030 ทั่วโลกจะต้องการเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากถึง 18 ล้านคน เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศจะเริ่มพัฒนามากขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้พวกเขาเฝ้ามองหาสุขภาพที่ดี มีชีวิตยืนยาวและหาหนทางต่อกรกับปัญหาเรื่องอายุ จึงทำให้สิ่งที่เฝ้าระวังต่อจากนี้คือ ประเทศยากจนจะขาดแคลนเจ้าหน้าที่ในกลุ่มสายงานเหล่านี้

เมื่อแรงงานชั้นดีมีคุณภาพทยอยออกไปทำงานในประเทศร่ำรวยกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ที่มา: NHS staff shortage: How many doctors and nurses come from abroad? [bbc.com]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'Brexit' ต้นตอสำคัญของปัญหา ‘ขาดแคลนพยาบาล’ ในอังกฤษ