ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถิติบีบหัวใจพ่อแม่ ข้อมูลชี้ 5 ปี เด็กไทยตายบนถนนเกือบ 20,000 คน มอเตอร์ไซค์คร่าชีวิตมากสุด ช่วงปิดเทอม มี.ค. ยอดตายพุ่ง เทียบนักเรียนหาย 7 โรงเรียน เตือนพ่อแม่คิดรอบคอบ ก่อนซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูก แนะมาตรการรถรับ-ส่งนักเรียนปลอดภัย ช่วยปกป้องชีวิตเด็กได้ เสนอผู้ประกอบการปรับตัว สร้างมาตรฐาน ลดความสูญเสีย

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดย สสส. เผยข้อมูลรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล (กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตั้งแต่แรกเกิด-19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 17,634 ราย สาเหตุหลักมาจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก เทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 7 โรงเรียน (คิดจาก เกณฑ์ สพฐ. 1 โรงเรียนขนาดใหญ่ = 2,500 คน)

นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนการเสียชีวิตในกลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 15-19 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลรายเดือน เด็กและเยาวชนช่วงอายุ 0-14 ปี มีจำนวนการเสียชีวิตที่สูงขึ้นในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการปิดเทอม ส่วนเดือนธันวาคม เป็นช่วงพักผ่อนสิ้นปี คาบเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่ เป็นไปได้ว่าอาจมีการเดินทางท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 15-19 ปี มีจำนวนเสียชีวิตที่สูงขึ้นในเดือนมีนาคม และเดือนธันวาคมเช่นกัน

นพ.ธนะพงศ์ เผยอีกว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี ระบุว่า เด็กอายุ 4-12 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตสูงที่สุดในช่วงปิดเทอม โดยเฉพาะวันที่ 12-23 เมษายน เป็นช่วงที่มีการเสียชีวิตสูงสุด และอุบัติเหตุทางถนนถือเป็นสาเหตุต้นๆ ของการเสียชีวิต สำหรับแบบแผนการเกิดเหตุคือ การขับขี่ ซ้อนจักรยานยนต์ละแวกบ้าน ถูกรถชนบริเวณชุมชน แต่ในช่วงสงกรานต์อันตรายครึ่งหนึ่งเกิดจากรถยนต์ เป็นการเดินทางไกล

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้ปกครองไม่เพียงแต่ต้องตระหนักถึงความสูญเสียในช่วงปิดเทอม เพราะช่วงเปิดเทอมก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่มาจากการเดินทางของนักเรียน จึงเป็นที่มาของโครงการรถนักเรียนปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุกับเด็กนักเรียน รณรงค์ให้ความรู้พ่อแม่หยุดซื้อรถจักรยานยนต์ให้บุตรหลาน และหันมาใช้บริการรถนักเรียนแทน

"แต่ละปีมีข่าวอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนค่อนข้างมาก ทั้งรถชน ลืมเด็กไว้บนรถ รวมไปถึงคุณภาพ มาตรฐานรถรับ-ส่งนักเรียน โครงการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยจึงเกิดขึ้นมา เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีพื้นที่ทำงาน 32 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่ทำงานด้านความปลอดภัยรถโดยสารอยู่แล้ว จากการลงพื้นที่พบว่ารถรับ-ส่งนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานขนส่งจังหวัด ด้วยเหตุผลคือ ถ้าขึ้นทะเบียนจะต้องถูกปรับ เพราะรถผิดกฎหมาย ใช้รถผิดประเภท ถามว่าทำไมถึงผิดกฎหมาย เราพบว่า ระเบียบกรมการขนส่งทางบกที่มีรองรับรถประเภทหนึ่ง แต่ในสภาพความเป็นจริงของพื้นที่มีความต้องการใช้รถที่ใช้สำหรับรับ-ส่งนักเรียนที่หลากหลาย และที่สำคัญผู้ปกครองหลายคนอาจไม่เคยรับรู้ถึงความเสี่ยงของลูก" นายคงศักดิ์ เผย

นายคงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตลอด 2 ปี ทางโครงการฯ ทำงานร่วมกับพื้นที่เป็นหลัก ทั้งสถานศึกษา สำนักงานขนส่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนกลางได้ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่น เชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆ เข้ามาทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อเสริมสร้างระบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัย ซึ่งการจะทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จได้ ในทางปฏิบัติต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เข้าช่วย โดยใช้วิธีพูดคุยกับผู้ประกอบการว่าข้อดีของการเข้าสู่ระบบคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ควบคู่ไปกับการชี้แจงและขอความร่วมมือให้ขนส่งช่วยขยายกรอบระยะเวลา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนสภาพรถให้ปลอดภัยและถูกต้องมากยิ่งขึ้น