ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) คือ ระดับสมรรถนะของบุคคลในการเข้าถึง เข้าใจ ประเมิน และปรับใช้ข้อมูลความรู้ และบริการสุขภาพได้อย่างเหมาะสมซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาระบุว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่กำหนดสถานะสุขภาพ สำหรับประเทศไทยยังไม่มีแบบสำรวจที่ประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการศึกษาเรื่องการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป เพื่อพัฒนาและประเมินคุณภาพของแบบสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย สำหรับนำมาใช้สะท้อนสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพของประเทศและเขตสุขภาพ โดยการพัฒนาและทดสอบคุณภาพของแบบสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป เป็นเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านสุขภาพในประเด็นสุขภาพ 4 ระบบหลัก ได้แก่ ระบบการบริการสุขภาพ ระบบการส่งเสริมสุขภาพ ระบบการป้องกันโรค และระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ มิติการเข้าถึง มิติการเข้าใจ มิติการโต้ตอบซักถาม มิติตัดสินใจและมิติการเปลี่ยนพฤติกรรม รวมคำถามทั้งหมด 87 ข้อ

ความรอบรู้ด้านสุขภาพกับผลลัพธ์ทางสุขภาพ

ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างในงานศึกษานี้ พบว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับผลลัพธ์สุขภาพ อันได้แก่ การมีโรคเรื้อรัง และภาวะอ้วนลงพุง กล่าวคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือภาวะอ้วนลงพุงมักจัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพน้อยกว่า กล่าวคือ

เมื่อเทียบเคียงคะแนนความรอบรู้ด้านสุขภาพกับผลลัพธ์ทางสุขภาพ ในกลุ่มประชากรที่ศึกษาที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจร่างกาย พบว่ากลุ่มประชากรที่ไม่มีโรคเรื้อรังมีคะแนนความรอบรู้สูงกว่ากลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรังในทุกมิติการวัด อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ของตัวอย่างประชากรจากกรุงเทพมหานครกลับได้ผลที่ต่างกัน กล่าวคือ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังมีความรอบรู้ด้านสุขภาพสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรค

อย่างไรก็ตาม การเลือกตอบของบุคคลในมิติการตัดสินใจมีความสอดคล้องกับมิติการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคลที่สามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจได้ง่ายก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ง่ายด้วยเช่นกัน ที่น่าสนใจพบว่าความรอบรู้ด้านสุขภาพใน 5 มิติ ได้แก่ มิติการเข้าถึง มิติการเข้าใจ มิติการโต้ตอบซักถาม มิติตัดสินใจ และมิติการเปลี่ยนพฤติกรรม พบว่ามิติการเข้าถึงมีค่าคะแนนต่ำกว่า 75 % ซึ่งต่ำกว่ามิติอื่น

บริบทและวัฒนธรรมมีผลต่อระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ

การศึกษานี้ได้สะท้อนความเป็นไปได้ถึงอิทธิพลจากบริบทและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมีผลต่อระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยจะเห็นได้จากกลุ่มประชากรที่ศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครที่เป็นโรคเรื้อรังแต่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคขณะที่ในจังหวัดอื่นๆ กลุ่มประชากรที่ไม่มีโรคเรื้อรังกลับมีคะแนนสูงกว่ากลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรังในทุกมิติการวัด สิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรที่มีโรคเรื้อรังในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นเขตพื้นที่เมืองสอดคล้องกับข้อค้นพบจากการศึกษาหนึ่งในกลุ่มคนญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่พบว่า กลุ่มผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นที่ศึกษามีคะแนนความรอบรู้ด้านสุขภาพสูงกว่าเมื่อเข้ารับการรักษาจากหมอที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง (มากกว่าคนที่มารับบริการครั้งแรก) อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาถึงความเป็นเหตุและผลของข้อค้นพบนี้ต่อไป

ความแตกต่างของบริบทและวัฒนธรรมยังส่งผลต่อการวิเคราะห์ข้อมูลและการเทียบเคียงข้อมูลระหว่างพื้นที่หรือกลุ่มประชากรด้วย ซึ่งจำเป็นต้องค้นหาความสัมพันธ์ภายใน(Interactions) ระหว่างคุณสมบัติของกลุ่มประชากรกับระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อค้นหาปัจจัยและอิทธิผลที่แท้จริงต่อความรอบรู้ด้านสุขภาพ ก่อนนำมาใช้ประกอบการออกแบบและดำเนินการกิจกรรมและโครงการต่อไป

ความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพออาจเกิดจากระบบบริการสุขภาพและข้อมูลสุขภาพ

การกำหนดระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพจากคะแนนรวมโดยมีจุดตัดที่ร้อยละ 75 ซึ่งเป็นผลจากการวิเคราะห์โอกาสที่บุคคลจะมีโรคเรื้อรังและภาวะอ้วนลงพุง หากบุคคลมีคะแนนรวมน้อยกว่า ร้อยละ 75 จากคะแนนเต็มทั้งหมด บุคคลดังกล่าวอาจมีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอที่จะดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นการตีความหมายจากปัจจัยภายในบุคคล อย่างไรก็ตาม ความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ไม่เพียงพออาจเป็นผลจากความไม่สอดคล้องระหว่างระดับความสามารถของบุคคลและความซับซ้อนของระบบบริการสุขภาพและข้อมูลสุขภาพที่ออกแบบหรือเผยแพร่โดยผู้เชี่ยวชาญ การที่ประชาชนมีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอยังสามารถสะท้อนได้ว่าระบบบริการและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ด้านสุขภาพมีความซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนจำนวนหนึ่งจะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

ดังนั้น ผลที่ได้จากแบบสำรวจฯ นี้แม้จะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เกิดจากปัจจัยภายในบุคคลหรือปัจจัยภายนอก แต่จะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงในระดับเขตและประเทศได้

คณะวิจัย เสนอว่าการทำความเข้าใจและทราบถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรอบรู้ด้านสุขภาพมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนงานความรอบรู้ด้านสุขภาพในทุกองค์กรทุกระดับซึ่งควรเป็นมาตรฐานการปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่การส่งเสริมสุขภาพโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน แบบสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไปที่ถูกพัฒนาขึ้นมีความถูกต้องด้านเนื้อหา โครงสร้าง และความเที่ยงตรง สามารถนำไปใช้สำรวจ กำกับ ติดตาม และประเมิลผลความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไปในระดับเขตสุขภาพและประเทศได้

เก็บความจาก

วิมล โรมา และคณะ. (2561). รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไปพ.ศ. 2560 (ระยะที่ 1). กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แหล่งที่มา: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ขอบคุณภาพจาก

: เว็บไซต์กรมอนามัย

: https://vacommunityhealth.org/health-literacy/