ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอปิยะสกล” เผยความสำเร็จเวทีหารือ รมว.สาธารณสุขอาเซียน ภายใต้สมัชชาอนามัยโลก สมัย 72 เห็นชอบความร่วมมือจัดทำ “ระบบเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษระดับอาเซียน” พร้อมแจ้งความคืบหน้าจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม” ในประเทศไทย เตรียมลงนามความร่วมมือปลายปีนี้

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ช่วงวาระแจ้งเพื่อทราบ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงความสำเร็จจากการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 72 เมื่อวันที่ 20-28 พฤษภาคม 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่ผ่านมา ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประธานอาเซียน ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียนร่วมหารืออย่างไม่เป็นทางการใน 3 ประเด็นหลักสำคัญ คือ ความคืบหน้าของการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Center for Active aging and Innovation : ACAI) ที่ประเทศไทย ในช่วงเริ่มต้นไทยจะลงทุนปีละ 5 ล้านเหรียญต่อเนื่องกัน 5 ปี ที่จะเกิดความร่วมมือกัน การที่ไทยได้รับเลือกเป็นที่ตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ทั้งในแง่ความรู้และเทคโนโลยีการดูแลผู้สูงอายุ เพราะขณะนี้เราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมในปลายปีนี้

ทั้งนี้จะใช้สถานที่ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเป็นที่จัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังร่างกฎหมายเพื่อรองรับศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อป้องกันและดูแลด้านพิษวิทยา (WHO Collaborating Centre for the Prevention and Control of Poisoning) จากที่ประเทศไทยมีศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยให้เข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษ นอกจากสามารถช่วยผู้ป่วยในประเทศได้มากแล้ว ยังมีส่วนสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ป่วยในต่างประเทศได้มาก ดังนั้นในเวทีนี้ไทยจึงได้หารือสร้างความร่วมมือในการจัดหายากำพร้าและยาต้านพิษในกลุ่มประเทศอาเซียน (central procurement) พร้อมวางระบบรองรับในการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงยากลุ่มนี้ในภูมิภาค ซึ่งทุกประเทศได้เห็นชอบร่วมกัน โดยประเทศไทยจะรับเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการ

นอกจากนี้ยังได้หารือการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ต้องเร่งรณรงค์เพื่อป้องกัน โดยทุกประเทศต่างเห็นร่วมในการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และจะได้หารือในรายละเอียดต่อไป